31 กรกฎาคม 2553

มิตซูบิชิ ไทรทัน ซีเอ็นจี ราคาโดน-สมรรถนะไม่แพ้

มิตซูบิชิ ไทรทัน ซีเอ็นจี ราคาโดน-สมรรถนะไม่แพ้ แม้สภาวะราคาน้ำมันปัจจุบันจะไม่สูงมากนัก ทั้งดีเซลและเบนซิน(แก๊สโซฮอล์) ยังพอรับไหว แต่ในแง่ของผู้ที่ใช้รถเพื่อธุรกิจหรือขนส่งแล้ว หากลดต้นทุนตรงนี้ได้ย่อมเป็นการดีกว่า จึงไม่แปลกที่จะเห็นปิกอัพที่นำไปติดตั้งซีเอ็นจี(CNG หรือ NGV) หรือแอลพีจี (LPG) กันเต็มบ้านเต็มเมือง หรือแม้แต่แบรนด์ใหม่ ที่บุกตลาดปิกอัพพื้นเรียบซีเอ็นจีเพียวๆ ยังเห็นวิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

การเปิดตัวของ “มิตซูบิชิ ไทรทัน ซีเอ็นจี” เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงเป็นการโดดลงจับลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ และได้รับการตอบรับมากทีเดียว ซึ่งจากทิศทางดังกล่าวจึงแว่วว่า… ปลายปีนี้ปิกอัพยักษ์ใหญ่จะโดดลงบุกตลาดนี้บ้าง? แต่ก่อนที่ตลาดจะร้อนแรงดุเดือดมากขึ้น ในเมื่อช่วงนี้มีปิกอัพติดตั้งซีเอ็นจีจากโรงงานแท้ๆ (หรือโรงงานรับรอง)มีเพียงแค่ 3 ยี่ห้อ เชฟโรเลต โคโลราโด, ทาทา ซีนอน และล่าสุดมิตซูบิชิ ไทรทัน ซีเอ็นจี คงต้องมาชั่งน้ำหนักกัน

หากดูแล้วจะเห็นว่า เชฟโรเลต โคโลราโด แม้จะเป็นรายแรกที่บุกตลาดปิกอัพติดตั้งซีเอ็นจี(+เครื่องยนต์ดีเซล) แต่เนื่องจากมุ่งจับตลาดบน และราคาที่ปรับขึ้นร่วมแสนบาท ทำให้ไม่ค่อยหวือหวาเท่าไหร่ แตกต่างจากน้องใหม่ ทาทา ซีนอน ซีเอ็นจี ที่จับกลุ่มปิกอัพพื้นเรียบที่ใช้งานเพื่อการพาณิชย์ ราคาเริ่มต้นเพียง 4 แสนปลายๆ แม้จะเป็นปิกอัพระบบเดี่ยวใช้ได้เฉพาะเชื้อเพลิงซีเอ็นจี ยังได้รับการตอบรับมากกว่า ดันยอดขายพุ่งขึ้นเป็นเดือนละ 400-500 คัน

อย่างไรก็ตาม ปิกอัพระบบเชื้อเพลิงซีเอ็นจีอย่างเดียว ทำให้มีปัญหาเรื่องสถานีบริการไม่ค่อยครอบคลุมทั่วประเทศ ความนิยมจึงอยู่เพียงพื้นที่หรือเส้นทางที่มีสถานีก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี กลายเป็นข้อจำกัดของปิกอัพทาทา ซีนอน ซีเอ็นจี ในปัจจุบันไป

มิตซูบิชิ ไทรทัน ซีเอ็นจี ที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุด จึงเป็นการเข้ามาปิดช่องว่างเหล่านี้ เพราะเป็นปิกอัพ 2 ระบบเชื้อเพลิง(Bi-Fiel System) ที่รองรับทั้งการใช้น้ำมันเบนซิน และก๊าซซีเอ็นจี ให้สามารถเลือกใช้ระบบเชื้อเพลิงอย่างใดอย่างหนึ่งตามความต้องการ ทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่องสถานีบริการรองรับ
ขณะเดียวกันกลุ่มเป้าหมายชัด เพราะรถที่ทำตลาดเป็นรุ่นซิงเกิลแค็บ 2.4GL และเมกะแค็บ 2.4GLX จึงมุ่งจับกลุ่มผู้ใช้งานบรรทุก หรือขนส่งเป็นหลัก ซึ่งต้องการพลังงานที่ช่วยลดต้นทุนที่สุด ที่สำคัญราคาจึงตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะรุ่นซิงเกิลแค็บเปิดมาที่ 4.69-4.79 แสนบาท และรุ่นเมกะแค็บราคา 6.11 แสนบาท

หากดูราคาน่าสนใจทีเดียว เพราะเป็นปิกอัพที่ติดตั้งซีเอ็นจีจากโรงงานมาให้เรียบร้อย ในราคาเริ่มต้นเพียง 4.69 แสนบาท แต่หากเป็นรุ่นซิงเกิลแค็บยี่ห้ออื่นๆ นำไปติดตั้งแอลพีจี หรือซีเอ็นจีภายหลัง เมื่อรวมราคารถแล้วต้องมี 5 แสนบาทขึ้นไป หรือต้องจ่ายเพิ่มกว่า 2-7 หมื่นบาท
หากไม่ยึดติดยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง “มิตซูบิชิ ไทรทัน ซีเอ็นจี” จึงมีราคาที่โดนทีเดียว! เพราะไม่เพียงติดตั้งซีเอ็นจีภายใต้มาตรฐานของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ยังพร้อมให้การรับประกันนาน 3 ปี

ในส่วนของสมรรถนะการขับขี่ ทางมิตซูบิชิยังเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สัมผัสด้วยตัวเอง โดยใช้เส้นทางทดลองขับกรุงเทพฯ-หนองหญ้าปล้อง-แก่งกระจาน-หัวหิน ระยะทางรวมกว่า 260 กิโลเมตร

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จัดปิกอัพไทรทันซีเอ็นจี 2 คัน คือ แบบซิงเกิลแค็บ หรือรุ่นตอนเดียว กับรุ่นมีแค็บ มิตซูบิชิ ไทรทัน เมกะแค็บ แต่จำนวนสื่อมวลชนทดสอบมี 10 คน จึงต้องแยกไปขับรถรุ่นอื่นๆ ของมิตซูบิชิแทน แล้วค่อยหมุนเวียนกันมาลองขับไทรทันซีเอ็นจี
ดังนั้นจากจุดสตาร์ทปั๊มปตท. ตรงข้ามมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ไม่ได้ลองปิกอัพไทรทันซีเอ็นจี แต่เป็นมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ซีเอ็นจี แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะคืนก่อนเดินทางโดนพิษ “ปลาหมึกพอล” ทำนายแม่น จนทีมโปรดเยอรมนีเล่นไม่ออกโดนสเปนถล่มเละ ทำให้แค้นปลาหมึกพอลสุดๆ กว่าจะงีบได้ก็เกือบเช้า งานนี้เลยปล่อยให้เพื่อนจากเดลินิวส์รับหน้าที่ไปก่อน เพื่อความปลอดภัยของการเดินทาง

กว่าจะได้สัมผัสมิตซูบิชิ ไทรทัน ซีเอ็นจี เมื่อหลังจากพักรับประทานอาหารกลางวันที่แก่งกระจาน และมุ่งหน้าสู่อำเภอหัวหิน โดยไทรทัน ซีเอ็นจี ทั้งแบบซิงเกิลแค็บและเมกะแค็บ วางเครื่องยนต์เบนซิน 2.4MPI ให้กำลังสูงสุด 128 แรงม้า ที่ 5,250 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 194 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ที่สามารถเลือกใช้เชื้อเพลิง 2 ระบบ ทั้งก๊าซธรรมชาติซีเอ็นจี และน้ำมันเบนซินแก็สโซฮอล์ อี20

สำหรับปิกอัพไทรทัน ซีเอ็นจี ที่ได้ลองขับเป็นรุ่นซิงเกิลแค็บ 2.4GL สีขาว ตัวถังก๊าซขนาด 120 ลิตรน้ำ (รุ่นเมกะแค็บ 100 ลิตรน้ำ)วางอยู่บนกระบะด้านท้าย ติดตั้งได้เนียนสวยงาม ด้วยการทำพื้นปูกระบะ หรือเบดไลเนอร์ ดีไซน์พิเศษแบบชิ้นเดียวคลุมทั้งพื้นกระบะ และตัวถังก๊าซมิดชิด สมกับเป็นการพัฒนาออกแบบมาจากโรงงาน เพิ่มความปลอดภัยจากแรงกระแทก ของสินค้าที่บรรทุกได้เป็นอย่างดี ไม่ได้เปิดให้เห็นตัวถังก๊าซ จนเกิดความรู้สึกหวาดเสียวได้ แถมยังสะดวกในการใช้งานและบำรุงรักษาอีกด้วย
ทันทีล้อหมุนเสียงตี๊ดด.... ดังขึ้นเป็นสัญญาณก๊าซซีเอ็นจีหมด เลยต้องปรับโหมดไปใช้น้ำมันแทน ซึ่งดูระยะทางที่เซ็ตมาจากจุดพักที่ 2 อยู่ที่ประมาณ 112 กิโลเมตร และยังมีระยะทางช่วงแรกจากจุดสตาร์ทอีก 76 กิโลเมตร แต่ไม่รู้ว่าก๊าซซีเอ็นจีหมดตรงจุดไหน ซึ่งทางทางทีมงานจะเป็นผู้ตรวจสอบ จากสื่อมวลชนที่ขับสองช่วงแรก จึงจะทราบชัดถึงอัตราสิ้นเปลือง เมื่อถึงจุดเติมก๊าซอีก 70 กิโลเมตรข้างหน้า

ระยะทางจากแก่งกระจานถึงหัวหินประมาณกว่า 90 กิโลเมตร ช่วงแรกขับตามขบวน เพื่อเป็นการปรับตัวให้เข้ากับรถเสียก่อน โดยเฉพาะชีวิตส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับรถเก๋ง พอเจอปิกอัพที่มีช่วงตัวยาวและกว้างกว่า แถมยังเป็นรุ่นตอนเดียวเสียอีก ทำให้การกะระยะหรือควบคุมยากกว่า แต่สักพักก็เริ่มคุ้นชิน จึงเริ่มลองเร่งแซงและเพิ่มความเร็ว
เครื่องยนต์เบนซิน 2.4 ลิตร ด้านหลังไม่ได้บรรทุกอะไร นอกจากถังก๊าซแบบ Type II หรือถังเป็นไฟเบอร์เท่านั้น เครื่องยนต์เรียกกำลังมาได้ทันใจดี การเร่งแซงและปรับเปลี่ยนเลนคล่องตัว ระยะเบรกทำได้ดีทีเดียว ด้านหลังแม้ไม่ได้บรรทุกอะไรนอกจากถังก๊าซไฟเบอร์น้ำหนักเบา ไม่เกิดอาการท้ายร่อนให้ได้รู้สึก เช่นเดียวกับการเข้าโค้งที่ทำได้อย่างมั่นใจ จนบางครั้งเผลอสาดเข้าไปหนักๆ พอสมควร

เมื่อถึงปั๊มปตท.บริเวณเส้นบายพาสไปแยกปรานบุรี จัดการเติมก๊าซเข้าไปได้ประมาณ 19.5 กิโลกรัมน้ำ เมื่อตรวจสอบระยะทางกับทางทีมงาน สรุปมีอัตราสิ้นเปลืองประมาณ 117 สตางค์ต่อกิโลเมตร หรือบาทเศษๆ แต่เมื่อดูกลุ่มแรกที่ทดสอบทริปก่อน กลับทำได้ประหยัดต่างกันเกือบเท่าตัว
งานนี้เลยต้องสอบถามลักษณะการขับของผู้ขับสองช่วงแรก ปรากฏว่าขับแบบฟรีไม่ตามขบวน อัดกันมาแบบเต็มที่ระดับ 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บางทีโล่งยาวๆ เค้นขึ้นไปถึงเกือบ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ผู้ขับกลุ่มแรกใช้ความเร็วแบบเกาะขบวน อยู่ที่ความเร็วประมาณ 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

หลังจากเติมก๊าซเอ็นจีวีเต็มถัง ในช่วงประมาณ 20 กิโลเมตรที่เหลือ ปรับสวิทซ์เลือกโหมดใช้เชื้อเพลิงก๊าซด้านข้างพวงมาลัยขวามือ ซึ่งมีไฟบอกระดับก๊าซที่เหลือเต็ม 4 เม็ดอยู่ติดกัน โดยช่วงนี้ขอขับแบบฟรีไม่เกาะขบวน การออกตัวและเร่งแซงในโหมดเชื้อเพลิงซีเอ็นจีจี๊ดจ๊าดทีเดียว ไม่ได้ให้ความรู้สึกแตกต่างกับน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซิน หรือปิกอัพมิตซูบิชิ ไทรทัน เมกะแค็บ ที่ได้ลองขับในรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล
ทั้งนี้เมื่อลองเปลี่ยนมาเป็นโหมดน้ำมันขณะรถวิ่ง มีอาการกระตุกนิดเดียว ให้พอรู้สึกว่าเปลี่ยนโหมดเชื้อเพลิง หากเทียบกับรถติดตั้งก๊าซซีเอ็นจีทีหลัง หรือเก๋งซีเอ็นจียี่ห้ออื่นๆ ยังรู้สึกมากกว่า นั่นน่าจะมาจากการติดตั้งกล่องควบคุมการจ่ายไฟให้กับหัวฉีด ของระบบก๊าซและน้ำมัน ซึ่งทราบมาว่ามีมูลค่ากว่า 4,000 บาท มาให้แบบฟรีๆ จึงทำให้มีความเสถียรนั่นเอง

จากความรู้สึกของการลองขับช่วงสั้นๆ และสมรรถนะโดยรวมของรถ ไม่ว่าจะเป็นโหมดเชื้อเพลิงไหน “มิตซูบิชิ ไทรทัน ซีเอ็นจี” ไม่ได้แตกต่างกับปิกอัพตอนเดียวปกติแต่อย่างใด และยิ่งดูราคาที่เริ่มต้นเพียง 4.69 แสนบาท นับว่าโดนทีเดียว!

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

1 ความคิดเห็น:

  1. ทำไมไม่ติดถังใต้ท้องรถละครับ ลูกค้าซื้อรถไปก็ต้องการบรรทุกของให้มากที่สุดต่อเที่ยว เอามาไว้ข้างบนมันเสียพื้นที่ เข้าใจนะครับว่าบริษัทมิตซูก็มีเหตุผลที่ติดไว้ข้างบน แตคุณควรจะมองในแง่ของลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร (ลูกค้าคือพระเจ้า)

    ตอบลบ