วิธีขอคืนภาษีรถคันแรก “คลัง” เคาะแนวทางคืนภาษีรถคันแรก ชี้จองก่อน 16 ก.ย.ชวดรับสิทธิ ยันคืนภาษีถึงมือเจ้าของรถตัวจริง แต่ยังมึนเช็คย้อนหลังปี 49 ไม่ได้ ด้าน “เอกชน” เล็งสนองนโยบายผ่อนยาว 6-7 ปี
วันที่ 14 ก.ย. ที่กระทรวงการคลัง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.คลัง ได้เชิญ 4 หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ทั้งกรมสรรพสามิต สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย และสมาคมประกันวินาศภัย มาหารือ และชี้แจงแนวทางปฏิบัติ รวมถึงผลกระทบต่าง ๆ
นายบุญทรง เปิดเผยภายหลังการหารือว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า รัฐบาลจะเริ่มดำเนินโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ต.ค.เป็นต้นไป แต่นโยบายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. โดยจะยึดจากใบจองซื้อรถที่ลงวันที่ 16 ก.ย. 54-31 ธ.ค.55 จึงจะมีสิทธิเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ จะยึดถือว่าผู้ซื้อรถที่มีเอกสารครบทั้ง 7 รายการที่มายื่นในวันสุดท้ายนี้ แม้จะยังไม่ได้รับรถก็ยังมีสิทธิเข้าร่วมโครงการ
รมช.คลัง กล่าวต่อว่า นโยบายดังกล่าวนี้ ทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้เริ่มต้นทำงาน ผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น ต้องคืนเงินให้ผู้ซื้อ ไม่ใช่ให้สถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นภาระของผู้ซื้อที่ต้องมาขอคืนภาษีจากกรมสรรพสามิตทั่วประเทศ และต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนด หากทำไม่ได้ก็จะถูกเรียกเงินคืนย้อนหลัง โดยรัฐบาลจะลดหย่อนภาษีสรรพสามิตให้สำหรับรถกะบะเชิงพาณิชย์ เริ่มเก็บภาษีสรรพสามิตที่ 3% ดับเบิลแค็บ 12% อีโคคาร์ 17% และรถยนต์นั่งกว่า 120%
“ผู้ซื้อรถโดยกู้เงินจากบริษัทลีสซิ่งนั้น รัฐบาลจะตีเช็คจ่ายคืนภาษีให้ผู้ซื้อรถในฐานะเป็นผู้ครอบครองรถ ไม่ใช่จ่ายให้บริษัทลิสซิ่ง แต่หากผ่อนไม่ไหวจนถูกยึดรถ ถ้าคืนรถอย่างถูกต้อง จะให้ลิสซิ่งช่วยตามทวงภาษีคืนจากผู้ซื้อรถให้รัฐบาลด้วย แต่ถ้าละทิ้งรถเลย กรมสรรพสามิตก็จะตามเรียกคืนภาษีอยู่ดี” นายบุญทรง ระบุ และว่า การที่รัฐบาลจะคืนภาษีให้ในอีก 1 ปีข้างหน้า จึงเป็นหน้าที่ของกรมสรรพสามิตจะเป็นผู้ตรวจสอบผู้ที่มาขอคืนภาษีว่า มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือไม่ รวมถึงกรณีที่กรมการขนส่งทางบกระบุว่า ไม่มีฐานข้อมูลการตรวจสอบรายชื่อทะเบียนย้อนหลังตั้งแต่ปี 49 ลงไปนั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่หากพบว่ามีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่กำหนดก็ต้องเรียกภาษีคืน
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า หลักฐาน 7 อย่าง ที่ผู้ซื้อรถคันแรกจะต้องมานำยื่น เพื่อขอคืนภาษีกับกรมสรรพสามิตทั่วประเทศ ประกอบด้วย แบบคำขอคืนภาษี สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาหนังซื้อเช่าซื้อ สำเนาคู่มือการจดทะเบียนรถ หนังสือยินยอมสละสิทธิ์การโอนภายใน 5 ปี และหลักฐานการซื้อรถยนต์ ซึ่งกรมฯ จะใช้เวลา 7 วัน ยืนยันการได้รับคืนภาษี และผู้ซื้อจะได้รับเงินคืนภายหลัง 1 ปี นับจากวันที่ซื้อ
ด้าน นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า กรณีที่มีการจองซื้อรถไว้ก่อนหน้าวันที่ 16 ก.ย. ซึ่งทำให้ไม่ได้รับสิทธิจากมาตรการดังกล่าวนี้ ไม่น่าเป็นปัญหา เพราะการจองซื้อยังไม่มีพันธะสัญญา สามารถยกเลิกแล้วสั่งจองใหม่ได้ เพราะในการยื่นเอกสารขอรับสิทธิต้องใช้สัญญาซื้อขายด้วย
ขณะที่ นายชลิต ศิลป์ศรีกุล รองประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อ กล่าวว่า บริษัทลิสซิ่งยินดีที่จะรองรับนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะทำให้ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยที่บริษัทลิสซิ่งยังคงให้บริการสินเชื่อกับผู้ซื้อรถได้ตามเดิม และยังคงให้ผ่อนนาน 72-84 เดือนได้อีกด้วย เพียงแต่อาจจะต้องเพิ่มเงินดาวน์รถให้สูงขึ้นกว่าผู้ซื้อรถปกติเล็กน้อย
พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) รับผิดชอบงานจราจร เปิดเผยว่า จากมาตรการดังกล่าว เชื่อว่าจะไม่ทำให้มีปริมาณรถเพิ่มขึ้นบนท้องถนนอย่างผิดปกติ เนื่องจากปัจจุบันเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนรถออกใหม่มากถึงวันละ 1,400 คัน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงโครงการดังกล่าว เชื่อว่าปริมาณรถจะหนาแน่นขึ้นอย่างแน่นอน และที่น่าเป็นห่วงมากคือ เรื่องสถานที่จอดรถ จะต้องมีปัญหาขาดแคลนที่จอดรถอย่างแน่นอน ในส่วนผู้ใช้รถใช้ถนนอาจต้องออกจากบ้านเพื่อไปทำงานให้เช้ามากขึ้น เพื่อลดผลกระทบการจราจร.
ที่มา เดลินิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น