บังคับรถยามฉุกเฉิน! ปลอดภัยแน่ ถ้าแก้ไขถูกวิธี ชีวิตหลังพวงมาลัยมักจะมีอะไรให้ตื่นเต้น ทำเอาหัวใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ อยู่เสมอ ถึงแม้ว่าจะระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็ไม่แคล้วต้องได้พบเจอเหตุการณ์หน้าสิ่ว หน้าขวาน สร้างความระทึกใจได้ไม่เว้นแต่ละวัน!!
เพราะทุกชีวิตมีคุณค่า การมีสติ เป็นเรื่องที่มักจะถูกพูดถึงในการขับรถอยู่เสมอ แต่ การมีทักษะบังคับรถในยามฉุกเฉิน ก็เป็นสิ่งที่ควรรู้ไว้ด้วยเช่นกัน เพราะสามารถช่วยผ่อนหนักให้กลายเป็นเบาได้
’ทุกวินาทีบนท้องถนนสามารถเกิดเหตุระทึกใจได้“ เสียงเกริ่นนำของ มนัส ดาวมณี รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการด้านเทคนิคบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวให้ความรู้ว่า สถานการณ์ฉุกเฉินที่เราไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้หลายกรณีด้วยกัน ซึ่งแต่ละกรณีคนขับรถต้องมีทักษะในการควบคุมรถที่แตกต่างกันไป ฉะนั้น ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน สิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมก่อนใช้รถ คือ ตรวจสอบสภาพรถก่อนการใช้งานทุกครั้ง จะได้รู้ว่าสภาพรถเราตอนนี้เป็นอย่างไร เมื่อขึ้นรถแล้วต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง สิ่งเหล่านี้ทำให้เป็นนิสัย เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นจะได้ใช้สมรรถนะของรถได้อย่างเต็มที่
กรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้นบนท้องถนนเมื่อ สัตว์วิ่งตัดหน้ารถ สิ่งที่พิจารณาก่อนการตัดสินใจ คือ ความเร็วที่วิ่งมาในขณะนั้น รวมทั้งสถานการณ์ตอนนั้นด้วยว่าเป็นอย่างไร เช่น ฝนตก หรืออยู่ในเขตชุมชนหรือไม่ ถ้าวิ่งมาด้วยความเร็วสูง แต่ตรงนั้นไม่มีรถสวน ถนนแห้ง การตัดสินใจ ควรใช้วิธีการเบรก แต่ถ้าชะลอไม่ทันอาจจำเป็นต้องตัดสินใจชนเพื่อไม่ให้รถเสียหลัก
หากวิ่งมาช้า ๆ พยายามเลี่ยงโดยการหักหลบ แต่ถ้าบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่มีการจราจรพลุกพล่าน อีกเลนหนึ่งมีรถวิ่งสวนมา หรือถนนเปียกลื่น ยิ่งถ้าเป็นช่วงโค้ง แล้วมีสุนัขวิ่งตัดหน้ารถ การตัดสินใจตรงนี้ ไม่ควรเบรก ต้องชนอย่างเดียว มิฉะนั้นแล้ว ตัวเราเองอาจจะบาดเจ็บหรืออาจเสียชีวิตได้เพราะรถอาจเสียหลักไม่สามารถบังคับรถได้ ถ้ากรณีที่เป็นสัตว์ใหญ่ไม่ควรบีบแตร เพราะการบีบแตรจะทำให้สัตว์ตกใจและอาจจะวิ่งเข้ามาทำอันตรายเราได้
ส่วนในกรณี รถมอเตอร์ไซค์วิ่งตัดหน้ารถ มนัส กล่าวว่า การระวังตัวไว้ก่อนเป็นดีที่สุด เมื่อขับรถควรจะมองกระจกข้างทั้ง ซ้าย ขวา ตลอด รวมทั้งกระจกกลางด้วย เพื่อจะได้รู้ว่ามีรถมอเตอร์ไซค์อยู่ข้าง ๆ หรือไม่ คนขับรถยนต์บนท้องถนนส่วนใหญ่มักมีประสบการณ์กับรถมอเตอร์ไซค์เป็นอย่างดี เพราะนึกจะปาดก็ปาด หรือยกมือขอทางแล้วหักเข้าเลนมาเลยทันที ตรงนี้ถ้าขับรถอยู่แล้วมีมอเตอร์ไซค์มาต้องระวัง ทางออกที่ดี ควรให้ไปก่อน เพราะเราจะได้ไม่ต้องมานั่งเดาใจเขา ถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยง ไม่ควรไปเสี่ยง
“แต่บางครั้งก็จนใจเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเบรกได้ก็ควรเบรก แต่ต้องดูรอบข้างด้วยว่า เลนข้าง ๆ มีรถหรือไม่ ถ้าไม่มีเราก็เปลี่ยนเลนออกไป แต่ถ้ามองแล้วมีรถอยู่อีกเลนหนึ่งทำให้เราไม่สามารถเลี่ยงออกไปได้ ก็ต้องพยายามควบคุมรถเพื่อเบรกให้ได้มากที่สุด พร้อมกับบีบแตรส่งสัญญาณเพื่อให้คนขับรถมอเตอร์ไซค์รู้ว่า เราขับรถอยู่ด้านหลังเขา ควรบีบครั้งหรือสองครั้ง แบบสั้น ๆ ไม่ควรบีบยาว เพราะถ้ากดแตรยาวอาจจะทำให้ตกใจ ทำอะไรไม่ถูกได้ รถเสียหลักได้ ในขณะที่เบรกต้องชำเลืองดูกระจกหลังด้วยว่า มีรถวิ่งตามมาหรือไม่ในระยะเท่าไร เพราะถ้าเบรกกะทันหัน เพื่อหยุดทันที รถคันหลังอาจจะเบรกไม่ทัน ชนท้ายรถ ทำให้ได้รับบาดเจ็บได้”
ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนเลนได้ พยายามอย่าขับออกจากเลนของเรา เพราะต้องคำนึงถึงเรื่องของกฎหมายด้วย ถ้าเราชนมอเตอร์ไซค์ที่ตัดหน้ารถในเลนเรา เขาผิด แต่ถ้าเราเปลี่ยนเลนเพื่อหลบรถมอเตอร์ไซค์แล้วไปชนกับรถที่อยู่ในเลนนั้น เราจะเป็นคนผิดทันที รวมทั้งความเสียหายอาจจะเกิดขึ้นมากกว่าก็ได้ เพราะรถที่เราชนอาจจะหักหลบไปชนรถอีกคันหนึ่งต่อไปอีกได้
การเบรกฉุกเฉิน นั้น ความฉับไวในการเปลี่ยนมาเป็นเกียร์ต่ำเกียร์ออโต้จะทำได้เร็วกว่าเกียร์ธรรมดา เพราะเกียร์ธรรมดาจะต้องเหยียบคลัตช์ก่อนที่จะเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งมีขั้นตอนมากขึ้น ทำให้ต้องใช้เวลาในการสั่งการ ฉะนั้น รถเกียร์ธรรมดาจะต้องเบรกด้วยแอนจินหรือเบรกด้วยเครื่องยนต์กับเหยียบเบรกเท้าคู่กันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะถ้าใช้เบรกเท้าอย่างเดียว น้ำหนักจะลงที่ล้อมากเกินไป รถอาจจะสูญเสียการทรงตัวได้ ฉะนั้น การเบรกอย่างกะทันหันเกียร์ธรรมดาจะต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าเกียร์ออโต้
ในกรณี คนวิ่งตัดหน้ารถ เสกสรร พรรษา ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ต้องดูว่าเราขับรถด้วยความเร็วเท่าไร ถ้าขับเร็วไม่เกิน 150 กม./ชม. สามารถบังคับรถได้สบายอยู่แล้ว โดยการเบรก แต่จะต้องเห็นคนที่วิ่งตัดหน้ารถในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร ถึงจะเบรกทัน
“หากคนวิ่งมาในระยะห่างไม่ถึง 30 เมตร จะต้องมองกระจกซ้าย ขวา ถ้าไม่มีรถด้านใดก็ให้หักหลบไปด้านนั้น แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องวิ่งตรงไปแล้วเบรกให้เต็มที่ โดยใช้ทั้งแอนจินและเหยียบเบรกที่เท้าช่วยกัน ซึ่งนั่นหมายความว่า คนที่วิ่งตัดหน้ารถถูกชนไปแล้วแต่จะถูกกระแทกไม่มาก โดยที่รถไม่เสียหลัก ถ้าคนอยู่หน้ารถแสดงว่าเราเบรกได้ แต่ถ้าคนถูกชนแต่ไม่ได้อยู่หน้ารถแสดงว่าถูกกระแทกไปแต่ไม่แรงมาก”
ในกรณี ยางแตก ในขณะขับขี่ สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก มนัส กล่าวว่า ต้องควบคุมรถให้ได้ เพราะยางแตกบางครั้งคนขับรถไม่สามารถควบคุมตัวรถได้ เนื่องจาก รถจะสะบัดออกไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้รถพลิกคว่ำได้
จากนั้นต้องดูว่า รถที่เราขับเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้าหรือล้อหลัง ถ้าเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า ยางแตกล้อหน้าจะพยายามปล่อยให้รถไหลไป โดยสามารถแตะคันเร่งได้ แต่ห้ามแตะเบรกโดยทันที เพราะจะทำให้รถพลิกคว่ำได้ จึงต้องค่อย ๆ ขับเลี้ยงเข้าไปข้างทางเพื่อเปลี่ยนยางสำรอง แต่ถ้าเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง จะสามารถเหยียบคันเร่งได้ เพราะโอกาสที่รถจะสูญเสียการทรงตัวจะยากกว่า เพราะล้อด้านหน้าจะถูกดัน จากนั้นก็ประคองรถขับเข้าข้างทางเช่นกัน
สำหรับเหตุการณ์ กระจกแตก ที่เกิดจากรอยร้าวที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือจากเศษหินที่หล่นจากรถบรรทุก นอต ตะปูที่ถูกยางล้อรถคันอื่นกระเด็นมาโดนกระจก ถ้าโดนแรง ๆ ก็สามารถทำให้กระจกแตกได้ หากเป็นรถรุ่นเก่ากระจกหน้าจะเป็นแบบ เทมเปอร์เรด ซึ่งเวลาแตกจะเป็นเม็ดเหมือนเม็ดข้าวโพด ตรงนี้ต้องระวังเป็นอย่างมาก จะต้องเอามือขึ้น ป้องตาไว้ เพื่อไม่ให้เศษกระจกเข้าตา อย่าเบรกกะทันหันแต่ให้ลดความเร็วลงเพราะรถตามหลังอาจชนท้ายได้ ชะลอรถให้ทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าแล้วค่อย ๆ เบรกเข้าข้างทาง
เสกสรร เล่าผ่านประสบการณ์ให้ฟังว่า “บางครั้งเมื่อกระจกแตก อาจจะยังไม่แตกแล้วหล่นลงมาเพราะรถติดฟิล์ม ตรงนี้ต้องระวังเพราะจะทำให้มองไม่เห็นทางข้างหน้า วินาทีนั้นจะขับรถเหมือนคนตาบอด ทางแก้ที่เร็วที่สุด คือ ใช้กำปั้นชกบริเวณกระจกที่แตกเพื่อให้เกิดรูมองเห็นทางก่อนที่จะชะลอแล้วเข้าข้างทาง”
มนัส กล่าวต่อว่า ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว เพราะอันตรายเนื่องจากถ้าเป็นก้อนหินหรือโดนตะปูทุบจะแตกเป็นเม็ดข้าวโพดทันที แต่ถ้าเป็นศีรษะไปกระแทกจะไม่แตก แต่ศีรษะที่ไปกระแทกจะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง สมองอาจจะพิการได้
กฎหมายจึงกำหนดไว้ว่า กระจกด้านหน้าจะต้องเป็นแบบ ลามิเนท คือ กระจกเหนียว 2 แผ่นตัดซ้อนนิรภัยโดยมีแผ่นฟิล์มอยู่ตรงกลาง มีความแข็งแรงมาก เวลาแตกจะแตกเป็นรอยร้าวเส้นยาว แต่ก็ยังคงสภาพเดิมไว้ ซึ่งสามารถมองเห็นทาง ขับต่อไปได้ แต่อาจจะต้องลดความเร็วลงเพื่อเข้าข้างทางตรวจสภาพรอยแตกของกระจกก่อนขับต่อไป
อีกกรณีหนึ่งที่พบเจอบ่อย ๆ คือ มีรถพุ่งออกมาจากจุดกลับรถอย่างกะทันหัน ตรงนี้ต้องคำนึงตลอดเมื่อถึงทางแยก ทางรวม ทางกลับรถ ต้องดูว่ามีรถอยู่ข้างหน้าหรือไม่ ถ้ามีต้องยกเท้าออกจากคันเร่ง หรือไม่ก็ให้สัญญาณไฟสูงเพื่อขอไปก่อน เมื่อให้สัญญาณแล้วก็ต้องมองกระจกข้างด้วยว่ามีรถตามมาหรือไม่ ตามมาในระยะห่างเท่าไร เผื่อไว้ในกรณีที่รถคันนั้นยังจะพุ่งออกมา เพื่อที่เราจะได้หักหลบได้ทัน
“อย่าขับรถโดยไม่ให้สัญญาณอะไรเลย ถ้าไม่แน่ใจว่ารถที่กำลังกลับรถจะพุ่งออกมาหรือไม่ เพราะนั่นเท่ากับว่าเรากำลังอยู่ในความเสี่ยง ถ้ารถยังพุ่งออกมา ต้องเบรกแล้วดูกระจกข้าง ถ้าหักไปอีกเลนได้ก็หักหลบ แต่ถ้าอยู่ในย่านชุมชน ก็ต้องมองกระจกกลาง ดูว่ารถตามมาในระยะห่างเท่าไร ขับตรงไปโดยเหยียบเบรกแล้วปล่อย ดูข้างหน้าด้วยว่ามีระยะห่างพอไหม เพื่อทิ้งช่วงให้กับรถที่ตามมาจะได้ไม่ชนรถเราแบบกะทันหัน ซึ่งอาจจะทำให้เราได้รับบาดเจ็บได้ และถ้าสุดวิสัยจริง ๆ จะต้องไม่ไปชนท้ายรถที่พุ่งออกมา เพราะทางกฎหมายถือว่าเราผิด”
มนัส แนะวิธีป้องกันทิ้งท้ายอีกว่า ทุกสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่ต้องระวังตลอดเวลา ฉะนั้น ทุกครั้งที่เรารับผิดชอบในการขับรถ จะต้องเตรียมพร้อมทั้งกายและใจ รวมทั้งต้องรู้สภาพรถ และรู้จักใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ของรถ ฝึกมองกระจกซ้าย ขวา และด้านหลังตลอด จะช่วยให้สามารถตั้งรับกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้...
และที่สำคัญอย่าขับรถเร็วโดยไม่จำเป็น!.
ข้อปฏิบัติขณะขับรถที่ต้องใส่ใจ
การหยุดรถ ควรหยุดห่างจากท้ายรถคันข้างหน้าในระยะที่สามารถมองเห็นล้อรถคันข้างหน้าได้ หากจำเป็นต้องเปลี่ยนช่องทาง ต้องมีช่องว่างให้สามารถเบี่ยงออกได้โดยสะดวก
การเปลี่ยนช่องทาง การเลี้ยวหรือแซง ควรให้สัญญาณไฟกะพริบอย่างน้อย 3 ครั้ง ก่อนหมุนพวงมาลัย เพื่อให้รถคันอื่นรับรู้และเปิดทางให้ และควรชำเลืองหรือหันหน้าเร็ว ๆ ไปมองกระจกด้านข้างทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเพื่อดูบริเวณจุดบอดของรถว่ามีรถมอเตอร์ไซค์ที่อาจแซงขึ้นมาได้
การเว้นระยะห่างในขณะขับรถทางไกลหรือรถวิ่งเร็ว ควรเว้นระยะห่างประมาณ 2-4 วินาที โดยสังเกตระยะทางประมาณหนึ่งช่วงเสาไฟฟ้า แต่ถ้าฝนตกหนักหรือถนนเปียกลื่นให้เพิ่มระยะห่างอีกเท่าหนึ่ง การขับใกล้คันหน้าเกินไปเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วรถข้างหน้าเบรกกะทันหัน ท่านอาจหยุดหรือแก้ไขสถานการณ์ได้ไม่ทัน
“ในกรณีคนวิ่งตัดหน้ารถ ต้องดูว่าเราขับรถด้วยความเร็วเท่าไร ถ้าขับเร็วไม่เกิน 150 กม./ชม. สามารถบังคับรถได้โดยการเบรก แต่จะต้องเห็นคนที่วิ่งตัดหน้ารถในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร ถึงจะเบรกทัน”
ทีมวาไรตี้
ที่มาเดลินิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น