"มิตซูบิชิ" ลุยเพิ่มกำลังผลิตปีหน้าเฉียด 2 แสนคัน ปรับระบบการผลิตใหม่เพิ่มกะ-ลดแทร็กไทม์ ลั่นมอเตอร์โชว์ปีཱི ส่ง อีโคคาร์ทำตลาดชัวร์ พร้อมเตรียมส่งกลับไปขายญี่ปุ่น มั่นใจปีหน้าตลาดโตต่อเนื่อง นายโนบุยุกิ มูราฮาชิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงนี้บริษัทมีปัญหากำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ประกอบกับการลงทุนตั้งโรงงานแห่งใหม่ ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ ในปีหน้าบริษัทคงจะต้องเลือกใช้วิธีการปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการแก้ปัญหา "คอขวด" ต่าง ๆ รวมทั้งเพิ่มเครื่องจักรและลดระยะเวลาการผลิตรถให้น้อยลง โดยเฉพาะการปรับวิธีการผลิตจะเน้นไปให้น้ำหนักกับรุ่นที่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะรถมิตซูบิชิ ปาเจโรสปอร์ต ที่ปีหน้าจะต้องมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตอย่างน้อยอีก 10% หรือประมาณ 2,000 คัน
"ปีหน้าการส่งมอบรถให้ลูกค้าคงดีขึ้นจากการขยายกำลังผลิต ต้องยอมรับว่าตลาดปีนี้ดีมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่กำลังการผลิตปีนี้เรามีถึง 195,000 คัน เพิ่มขึ้น 96% จากยอดการผลิต 99,208 ในปีที่ผ่านมา"
นายมูราฮาชิกล่าวอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมเพื่อลงทุน สำหรับโครงการผลิตรถยนต์ นั่งขนาดเล็ก (อีโคคาร์) โดยได้เตรียมปรับปรุงพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการรอบริษัทแม่ จากประเทศญี่ปุ่นประกาศความชัดเจนของการลงทุนมูลค่า 15,000 ล้านบาท อีกครั้งหนึ่งในเร็ว ๆ นี้
เบื้องต้นบริษัทได้ตัดสินใจลงทุนมูลค่า 15,000 ล้านบาท สำหรับโครงการ อีโคคาร์ ตามแผนงานมิตซูบิชิจะผลิตรถ อีโคคาร์ในระดับ 2 แสนคันต่อปี โดย 85% หรือ 1.7 แสนคัน เป็นการผลิตเพื่อรองรับตลาดส่งออก และอีก 15% หรือ 3 หมื่นคัน เป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศ
ทั้งนี้เนื่องจากตลาดรถอีโคคาร์ถือเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหม่ และบริษัทเชื่อว่ายังมีพื้นที่ และโอกาสของการทำตลาดอีกค่อนข้างมาก หากไม่มีอะไรผิดพลาด คาดว่าจะได้เห็นอีโคคาร์ของมิตซูบิชิในช่วงงานมอเตอร์โชว์ ในปี 2555 อย่างแน่นอน โดยรถรุ่นนี้จะถูกส่งกลับไปขายที่ญี่ปุ่นด้วย
"อีโคคาร์ของเราถือเป็นหนึ่งตามแผนงานโกลบอลสมอลคาร์ ซึ่งรถคันนี้จะเป็นรถที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ทั้งหมด และไม่ได้มีการใช้แพลตฟอร์มของรถรุ่นเดิมที่มีอยู่มาปรับปรุงใหม่แต่อย่างใด และเรามั่นใจว่า อีโคคาร์ของเรามีตลาดอย่างแน่นอน" นายมูราฮาชิกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการที่จะนำรถไฟฟ้ามาทดลองวิ่งและทำตลาดในประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการศึกษา เตรียมความพร้อม เพื่อนำรถดังกล่าวเข้ามาทดลองวิ่งก่อนอย่างน้อย 5 คัน คาดว่าคงจะต้องใช้ระยะเวลาในการทดลองอย่างน้อย 1 ปี จึงจะสามารถให้ คำตอบได้ถึงอนาคตของรถไฟฟ้าของมิตซูฯในเมืองไทย
สำหรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ที่ปัจจุบันรัฐบาลมีแนวคิดที่จะให้มีการรื้อโครงสร้างให้ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการปล่อยค่าไอเสียเป็นหลัก ซึ่งมิตซูบิชิเห็นด้วยกับการนำแนวคิดนี้มาประกอบการพิจารณาให้ภาษี แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าว จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการที่ค่ายรถยนต์ได้ลงทุนไปแล้ว รวมทั้งภาครัฐจะต้องมีระยะเวลาให้ค่ายรถได้เตรียมตัวพอสมควร
ขณะที่กลยุทธ์ทางการตลาดในปีหน้านั้น บริษัทคงจะมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผ่านกลยุทธ์ทั้งโปรโมชั่นและแคมเปญต่าง ๆ เนื่องจากปีหน้าบริษัทไม่มีสินค้ารุ่นใหม่ออกมาทำตลาด จะมีอีกทีก็อีโคคาร์ในปี 2553
ส่วนปัญหาเรื่องสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปัจจุบัน ส่งผลทั้งทางบวกและลบกับอุตสาหกรรม โดยในแง่ของผลดีคือสามารถที่จะซื้อวัตถุดิบในราคาต่ำ ขณะที่ข้อเสียคือการส่งออกที่จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งลดลง
โดยในส่วนของมิตซูบิชิมองว่าสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้นไม่ได้มีผลกระทบกับการดำเนินงานของมิตซูบิชิแต่อย่างใด เห็นได้จากยอดการจำหน่ายในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยจำนวนทั้งสิ้น 26,614 คัน เติบโต 118% ขณะที่ตลาดส่งออกมีจำนวนทั้งสิ้น 137,000 คัน เติบโต 93.5% และตัวเลขยอดการผลิตทั้งหมด 147,379 คัน สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มี 53,874 คัน หรือเติบโต 174%
"เรามีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ขยายตัวขึ้นตามกระแสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยมียอดส่งออกสะสมที่จำนวน 137,500 คัน (รวม BU และ KD) มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดส่งออก 71,065 คัน อยู่ที่ 93.5% ถือเป็นความ ภาคภูมิใจของพนักงานและผู้จำหน่ายรถยนต์" โดยเฉพาะยอดขายในประเทศ มิตซูบิชิมียอดเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มสินค้าในส่วนของรถยนต์นั่งรวม MPV มีอัตราการเติบโตสะสมที่ 161% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 5,857 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์นั่งแบบ CNG ถึง 42% ตามด้วยรถยนต์นั่งที่ใช้น้ำมัน E20 และรถยนต์ FFV-E85 ถึง 36% และ 22% ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของกลุ่มรถยนต์นั่งในตลาดรวม ที่เริ่มมีสัดส่วนมากขึ้นตามกระแสความนิยมในตลาด
ส่วนรถปิกอัพไทรทัน มีอัตราการเติบโต 104% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มรถยนต์แบบ CNG มียอดแบ็กออร์เดอร์อยู่กว่า 2 เดือน ส่วนยอดการส่งออกที่มีปัจจัยบวกการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจโลกทำให้เชื่อว่าทั้งปี มิตซูบิชิจะมียอดการส่งออก 183,000 คัน เพิ่มขึ้นประมาณ 68% โดยรถรุ่นที่ได้รับคำสั่งซื้อ เพิ่มสูงขึ้นมาก คือ ปาเจโร สปอร์ต ที่ประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะที่ยอดขายในประเทศทั้งปี น่าจะมียอดจำหน่าย 37,500 คัน หรือครองส่วนแบ่งทางการตลาด 5% ของตลาดรวมที่คาดว่าจะมากกว่า 750,000 คัน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น