17 ตุลาคม 2553

เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต ทีดีวี 6

ในขณะที่ค่ายรถยนต์หลาย ๆ ยี่ห้อเลือกที่จะเปลี่ยนโฉมรถรุ่นใหม่ ๆ ของตัวเองให้สวย ทันสมัยไปเรื่อย ๆ เพื่อเอาใจคนซื้อ แต่ก็ยังมีอีกหลาย ๆ ค่ายที่ยังคงพยายามรักษาอัตลักษณ์ อันเป็นการแสดงตัวตนเอาไว้ เพื่อให้ผู้คนจดจำมองเห็นและรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง
เรนจ์ โรเวอร์รุ่นแรกที่มีชื่อรุ่นว่า คลาสสิก นั้น ได้ถูกผลิตเพื่อออกจำหน่ายเมื่อ 40 ปีก่อนและถูกผลิตออกมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่องถึง 4 รุ่นแล้ว โดยรุ่นที่ 2 คือ P38a เริ่มผลิตในปีค.ศ. 1994 รุ่นที่ 3 คือ L322 ผลิตในปีค.ศ. 2001 และล่าสุด เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต ทีดีวี 6 เป็นรถรุ่นที่ 4 ซึ่งนำมาลองขับในอาทิตย์นี้ จะใช้รหัสว่า L320 สนน ราคาอยู่ที่ 8,290,000 บาท

สำหรับรูปทรงของตัวรถนั้นก็ยังคงรักษา อัตลักษณ์เดิม ๆ ไว้ แม้จะมองดูแบบผ่าน ๆ หรือมองไกล ๆ ก็ยังพอจะเดาได้ว่าเป็นเรนจ์ โรเวอร์แน่นอน เมื่อเข้าไปนั่งในตำแหน่งคนขับ พบว่าตัวประตูหน้ามีขนาดใหญ่และเปิดได้มุมกว้างช่วยให้การเข้าออกง่ายดี เพียงแต่ตัวรถและเบาะนั่งที่อยู่ในตำแหน่ง ค่อนข้างสูงนั้น คงทำให้คนที่รูปร่างเล็กต้องออกแรงเวลาขึ้นไปนั่งกันสักนิด แต่โดยส่วนตัวผมชอบเบาะ นั่งที่สูง ๆ แบบนี้ เพราะมันทำให้สามารถ นั่งห้อยขาได้เหมือนนั่งเก้าอี้ทำงาน แถมยังให้มุมมองทัศนวิสัยโดยรอบได้กว้างไกลขึ้นอีกด้วย ในส่วนของที่นั่งตอนหลังนั้น ตัวประตูมีขนาดเล็กและเปิดทำมุมได้น้อยกว่าประตูหน้า การเข้าออกจึงไม่สะดวกเท่า ส่วนตัวเบาะหลังมีขนาดที่กว้างขวาง ถึงแม้จะนั่งกัน 3 คนก็ไม่อึดอัด นอกจากนี้ยังเย็นสบายเพราะมีช่องแอร์อยู่หลังคอนโซลกลางด้วย

ฝูงม้ากว่า 245 ตัวใต้ฝากระโปรงของ L320 คันนี้ได้มาจากเครื่องยนต์ดีเซล 3 ลิตร เทอร์โบคู่แบบวี 6 ที่มีจุดเด่นอยู่ตรงการใช้เทอร์โบ 2 ชุดทำงานร่วมกัน โดยเทอร์โบที่ใช้ใบพัดแบบแปรผันได้จะทำงานในช่วงแรกไปจนถึง 2,500 รอบ/ นาที จากนั้นเมื่อแรงดันของไอเสียเยอะขึ้น เทอร์โบที่ใช้ใบพัดแบบตายตัวก็จะเข้ามาช่วยด้วยอีกแรง ทำให้เครื่องยนต์บล็อกนี้สร้างแรงบิดสูงสุดได้อย่างต่อเนื่องและมากถึง 600 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 รอบ/นาที ซึ่งถือว่ามากที่สุดในบรรดาเครื่องดีเซล 3 ลิตรด้วยกัน และที่สำคัญแรงบิดกว่า 90% หรือประมาณ 550 นิวตัน-เมตรจะเริ่มมีมาให้ใช้ตั้งแต่รอบที่ต่ำ ๆ เพียง 1,400 ไปจนถึง 3,000 รอบ/นาที ดังนั้นเรื่องอัตราเร่งออกตัวและการเร่งแซงจึงทำได้อย่างเยี่ยมยอด แถมยังไม่กินน้ำมันอีกด้วย โดยเฉลี่ยในเมืองทำได้ต่ำกว่า 10 กม./ลิตร ในขณะที่วิ่งนอกเมืองจะทำได้มากกว่า 13 กม./ลิตรเลยทีเดียว

ระบบช่วงล่างของเรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต จะใช้ถุงลมทำหน้าที่แทนสปริง ซึ่งนอกจากจะมีความนิ่มนวลและให้การทรงตัวที่มั่นคงแล้ว ยังสามารถปรับความสูงต่ำของรถได้จากภายในตัวรถด้วย ส่วนการใช้งานแบบออฟโรด เรนจ์ โรเวอร์ยังเพิ่มความสะดวกสบายด้วยปุ่มควบคุมการทำงานของระบบ ขับเคลื่อนที่ผู้ขับรถสามารถเลือกใช้ได้ตามสภาพ ของเส้นทาง และยังมีระบบช่วยชะลอรถเวลาขับลงทางลาดชันอีกด้วย ในการหยุดรถคันโตแรงเยอะแบบนี้ก็วางใจได้ เพราะมีทั้งระบบเพิ่มกำลังเบรกและระบบควบคุมการทรงตัวมาให้พร้อม

สรุปโดยรวมแล้วแม้รูปทรงของเรนจ์ โรเวอร์ รุ่นที่ 4 จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มาก แต่สำหรับบรรดาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่รถคันนี้ มีกลับล้ำสมัย ทำให้มันมีทั้งสมรรถนะอันเยี่ยม ยอด ประหยัด สะดวกสบาย และมีความปลอดภัยสูงมาก.

สมฤกษ์ รื่นสัมฤทธิ์
เรนจ์ โรเวอร์ สปอร์ต ทีดีวี 6
ที่มา เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น