สร้างได้ทั้งความสุข-เสียงหัวเราะ ฮอนด้า สเต็ปแวกอน ผลงานการออกแบบรถยนต์กลุ่มเอนกประสงค์ หรือเอ็มพีวี เป็นที่ยอมรับว่า มีความเด่นทั้งด้านรูปทรง และประโยชน์ใช้สอย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ฮอนด้า ฟรีต แม้จะถูกปรามาสเป็นรถยนต์ที่มีเครื่องเครากระทัดรัดเกินไป ขณะที่ราคาค่อนข้างสูง สำหรับผมการเลือกใช้รถมันควรขึ้นอยู่กับความต้องการและลักษณะการใช้งาน ในราคาสอดคล้องกับสถานะทางการเงินด้วย ที่สำคัญรถยนต์เอนกประสงค์ของฮอนด้า ยังมีอีกหลากๆ รุ่น เพียงแต่มันไม่ถูกนำมาผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือ ฮอนด้า สเต็ปแวกอน จะว่าไปแล้วฟรีดเองก็ส่วนที่คล้ายคลึงกับรถรุ่นนี้ โดยเฉพาะการออกแบบภายใน ทั้งคอนโซลหน้า ช่องเก็บของต่างๆ จนถึงรูปแบบของเบาะนั่ง
ฮอนด้า สเต็ปแวกอนนั้นถูกนำเข้าและจำหน่ายโดยผู้นำเข้าอิสระ หรือเกรย์มาร์เก็ต คันที่ผมนำมาทดสอบนี้มาจาก ค่าย ทีเอสแอล ออโต้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นรถนำเข้าจากญี่ปุ่นแบบทั้งคันหรือที่เรียกกันว่า CBU ติดตั้งเครื่องยนต์ VTEC ขนาด 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 160 แรงม้า
แน่นอนรูปร่างมันย่อมสะดุดตากว่า ฮอนด้าฟรีต เพราะมันถูกนำเข้ามาจำหน่ายในจำนวนไม่มากมายนัก จึงไม่แปลกใจเลย ทำไมไม่ว่าจะขับไปไหนมักจะมีคนหันมามองอย่างสนใจ อย่างไรก็ดีรูปร่างภายนอกมันเป็นเรื่องของความชอบ หรือไม่สอบส่วนตัวครับ สำหรับมุมมองของผมอยากที่บอกตั้งแต่แรก ฮอนด้าพัฒนารถยนต์เอนกประสงค์มาดี สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ และที่สำคัญคือระยะหลังๆ นี้ ฮอนด้าพุ่งเป้าไปที่การผลิตรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ไม่ใหญ่โตเหมือนเมื่อก่อน และหาทางเพิ่มสมรรถนะเครื่องยนต์เหล่านี้ด้วยหลากหลายวีธี เพื่อให้ผลที่ออกมาคือ เป็นรถยนต์ที่มีความประหยัดสูง
สเตปแวกอน และฟรีด เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นเป้าหมายของฮอนด้า ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมว่า ฮอนด้าอาจยัดเครื่องขนาด 2.0 ลิตรเข้าไปในฟรีต และใส่ 2.4 ลิตรให้กับสเต็วแวกอน แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้วครับ ใครๆ ก็กังวนกันเรื่องโลกร้อน เรื่องมลพิษ และเรื่องราคาน้ำมัน
ผมว่าลักษณะการใช้รถยนต์เอ็มพีวีนั้น สาระสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการใช้งานนอกเมืองเป็นหลัก มันเป็นรถยนต์สำหรับ 7-8 ที่นั่งแบบสบายๆ เบาะนั่งแถวที่ 2 และ 3 รอบรับได้สูงสุดแถวละ 3 ที่นั่ง ด้วยเหตุที่มันเป็นรถที่มีความสูงกว่ารถยนต์นั่งทั่วไป แต่พื้นของห้องโดยสารสูงจากพื้นไม่มากนัก ทำให้มันเป็นรถที่ให้ความกว้าง และความสูงของห้องโดยสารมากเลยทีเดียว ขึ้นลงสะดวก ทั้งคนขับและผู้โดยสาร ดังนั้นในเรื่องเดินทางไกลๆ มันเป็นเรื่อง จิ๊บๆ ไปเลย
เส้นทางไปกลับกรุงเทพฯ-เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นบททดสอบการความสะดวก สบายของสเต็ปแวกอนได้ดี เกือบ 500 กิโลเมตร ทำให้ผมเห็นว่า ไม่ว่าจะขับ หรือเปลี่ยนมาเป็นผู้โดยสาร ทุกอย่างดูราบรื่น ระบบปรับอากาศ 2 ตอนให้ความเย็นได้ทั่วถึง เครื่องเสียงที่รองรับไปจนถึงแผ่น DVD สร้างความเพลิดเพลินได้ตลอดเส้นทาง
จะติดนิดหน่อยก็เป็นช่วงขึ้นเขาของทางหลวงหมายเลข 12 ผมต้องเติมน้ำหนักลงคันเร่งแบบเต็มๆ เพื่อให้ได้กำลังไต่ที่ดี แต่มองในมุมกลับมันก็ปลอดภัยดี เพราะสิ่งสำคัญคือมันเป็นรถเอ็มพีวี ความสูงของมันให้ความสะดวกสบายในการโดยสาร แต่เป็นอุปสรรค์ของศูนย์ถ่วงยามต้องเข้าโค้ง ด้วยความเร็วที่สูง ไม่ว่าจะขึ้นหรือลงเขาทั้งนั้น
จนถึงที่หมายผู้โดยสารทั้ง 8 คนในสเต็ปแวกอน ผลัดกันพูดคุย ผลัดกันหลับพักผ่อนเป็นช่วงๆ แต่ไม่มีใครออกมาตำหนิในเรื่องความเมื่อยล้า ผมเลยทึกทักเอาว่า ฮอนด้าออกแบบเบาะนั่งโดยสารของสเต็ปแวกอนได้ดี
ส่วนในเรื่องอัตราการบริโภคน้ำมันนั้น ถ้าวิ่งกันที่ปรกติคือ 100-130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผมว่ากินกว่าฮอนด้า ซีอาร์วี 2.0 ลิตรไม่เท่าไร แต่อย่าลืมครับว่ามันบรรทุกผู้โดยสารได้ตั้ง 7 คน ราวๆ 8-10 กิโลเมตรต่อลิตรก็น่าจะไหว
เรื่องราคาไม่ต้องห่วงมันแพงแน่นอน เพราะเป็นรถนำเข้าทั้งคัน อยู่ที่คันละ 2,600,000 บาท อย่าเทียบกับฟรีด ที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย เพราะนั้นใช้ความได้เปรียบจากเขตการค้าเสรีอาเซีย และฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายเอง แต่สเต็ปแวกอนมาจากญี่ปุ่น ซึ่งข้อตกลงการค้าเสรีเรื่องภาษีนำเข้าระหว่างกันนั้นยังไม่ลงมาถึงรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2.0 ลิตร
สำหรับผมราคาของสเต็ปแวกอนคงไม่ใช่ปัญหา เพราะกลุ่มลูกค้าตลาดรถยนต์นำเข้าจะมีฐานะดีอยู่แล้วเพียงเพื่อให้มันเป็นรถยนต์ที่สามารถสร้างความสุข และเสียงหัวเราะของครอบครัวได้ระหว่างเดินทาง โดยไม่เบื่อ เท่านี้ก็พอแล้ว
ที่มาโดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น