Volkswagen Phaeton ขอสู้ต่ออีกสักยก ที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาในปี 1937 ภาพลักษณ์ของโฟล์คสวาเกนถูกทำให้ยึดติดกับรถยนต์ธรรมดาสำหรับคนทั่วไป หรือ People’s Car ตามคำแปลจากชื่อบริษัทในภาษาเยอรมัน ที่ไม่เน้นอะไรหรูหรามากมายเหมือนกับเพื่อนร่วมชาติอย่างบีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส-เบนซ์ รวมถึงบริษัทในเครืออย่างออดี้ แต่ทว่ามีอยู่ช่วงหนึ่ง โฟล์คฯ เคยฝันและเคยพยายามที่จะอัพเกรดภาพลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาจากรถยนต์ทั่วไปสู่ความเป็นแบรนด์รถยนต์ระดับหรูภายใต้ไอเดียของท่านผู้นำอย่างดร.เฟอร์ดินันด์ เพี๊ยค นำแนวคิดนี้มาใช้ในช่วงปี 2002 แต่ดูเหมือนว่าการพยายามอัพเกรดจะไร้ผล
บอรา ซึ่งเป็นการนำโฟล์คสวาเกน เวนโต้ หรือกอล์ฟ 4 ประตูมาเพิ่มความหรูหราเพื่อให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่ามีระดับตลาดเทียบเท่ากับบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี-คลาสคว่ำไม่เป็นท่าจนกระทั่งต้องยอมแพ้ ขณะที่รถยนต์รุ่นใหญ่อย่างเฟตัน มีชื่อที่มาจากบุตรชายของเทพ Helios ตามตำนานเทพของกรีกก็ประสบปัญหาเดียวกัน ไม่สามารถเจาะเข้าครองใจนักบริหารที่ยึดมั่นกับบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 และเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอส-คลาส
ในตอนแรกนึกว่าโฟล์คฯ จะยอมยกธงไปแล้ว แต่ปรากฎว่า ในงานปักกิ่ง มอเตอร์โชว์ 2010 เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา แบรนด์ดังของเยอรมันยังขอสู้ต่อ และเปิดตัวเวอร์ชันใหม่ที่เป็นการปรับโฉมครั้งที่ 2 ออกมากระตุ้นตลาด และเชื่อว่าน่าจะเป็นการขอสู้ต่อครั้งสุดท้ายก่อนที่รถยนต์รุ่นนี้จะสิ้นสุดอายุตลาด
เฟตันเป็นรถยนต์ระดับหรูที่ถูกเปรียบเปรยว่าคือ ความทะเยอทะยานของโฟล์คฯ ตัวรถถูกพัฒนามาจากงานต้นแบบที่เปิดตัวในปี 2001 ด้วยชื่อ D1 ก่อนจะมีขายในปีต่อมา และเป็นผลผลิตที่โฟล์คฯ ส่งเจาะตลาดทั่วโลกทั้งในยุโรป, ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายในการแข่งกับยานยนต์ที่เป็นสุดยอดความหรูของแบรนด์เยอรมนี
ก่อนที่จะเริ่มทำตลาด โฟล์คฯ ประกาศว่า โรงงานในเมืองเดรสเดนที่เป็นฐานการผลิตของเฟตันจะมีตัวเลขอยู่ที่ 20,000 คันต่อปี โฟล์คฯ สามารถทำได้มากกว่าที่พูด ด้วยตัวเลข 25,000 คัน แต่ทว่าต่อ 4 ปี หรือเฉลี่ยแล้วไลน์ผลิตที่เดรสเดนมีเฟตันหลุดออกมาเพียงปีละ 6,000 คันเท่านั้น หรือน้อยกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ถึง 3 เท่าตัว แม้แต่ตลาดหลักอย่างเยอรมนีที่โฟล์คฯ คาดว่าเฟตันจะได้รับความนิยม ยอดขายจนถึงปี 2009 กลับมีอยู่แค่ 19,314 คันเท่านั้นเอง ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกาก็ขายได้นิดหน่อย และเลิกนำเข้ามาทำตลาดในปี 2009 หลังจากที่ขายมาตั้งแต่ปี 2004
ตรงนี้ถูกมองว่าเป็นปัญหาเดียวกับที่เล็กซัสประสบในการชิงส่วนแบ่งตลาดหรูในญี่ปุ่นกับบีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส-เบนซ์ นั่นเป็นเพราะตัวลูกค้าเองไม่เกิดความรู้สึกถึงความหรูที่แท้จริง แม้ว่าในเชิงวิศวกรรมและความยอดเยี่ยมที่มีอยู่ในตัวรถ เล็กซัสจะทำได้ดีไม่แพ้ความหรูจากเยอรมนี
อย่างในกรณีของเล็กซัสนั้น คนญี่ปุ่นที่เป็นลูกค้าของบีเอ็มดับเบิลยูและเมอร์เซเดส-เบนซ์ยังมองว่าคือ รถยนต์โตโยต้าที่มีราคาแพงขึ้นเท่านั้นเอง (แม้ว่าเล็กซัสรุ่นใหม่ๆ จะไม่ได้เป็นการนำรถยนต์ของโตโยต้าที่เป็น JDM มารีแบรนด์แล้วก็ตาม) และแน่นนอนว่าการขับรถยนต์อิมพอร์ตย่อมให้ความรู้สึกที่ดีกว่าทั้งในมุมมองส่วนตัวและมุมมองที่ได้รับจากภายนอก
ส่วนในกรณีของโฟล์คฯ นั้นก็ไม่ต่างกัน เฟตันต้องเข้าไปเจาะลูกค้าที่เคยขับแต่บีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส-เบนซ์ซึ่งมีมุมมองต่อรถยนต์โฟล์คฯ ว่า เป็นรถยนต์ธรรมดาที่ไม่ได้หรูหราอะไร แน่นอนว่าในวงเงินที่ใกล้เคียงกัน พวกเขาย่อมเลือกและตัดสินใจรถยนต์ที่มีภาพลักษณ์ดีและได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย…เท่ากับว่าความพยายามสร้างความหรูให้กับโฟล์คฯ ของเพี๊ยคก็เลยประสบความล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มขายเลย เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องต่อสู้ไม่ใช่เรื่องของความยอดเยี่ยมที่จับต้องได้ แต่เป็นค่านิยมและความเชื่อของลูกค้าในกลุ่มนั้น
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าโฟล์คฯ จะยังไม่ยอมแพ้ เพราะหลังการปรับโฉมครั้งล่าสุดในปี 2009 พวกเขาก็ยังกระตุ้นตลาดอีกระลอกด้วยการปรับโฉมครั้งใหญ่อีกครั้งในปีนี้ พร้อมกับเริ่มเบนเข็มมารุกตลาดรถยนต์จีน ความเชื่อมั่นของลูกค้าที่นี่ต่อแบรนด์โฟล์คฯ มีมาก และรถยนต์หรูในมุมมองของคนที่นี่ คือ บูอิก ไม่ใช่เมอร์เซเดส-เบนซ์ หรือบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งความยึดมั่นของคนจีนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เพราะบูอิคคือรถยนต์ที่ชนชั้นสูงของจีนสมัยนั้นใช้กัน และตรงนี้คือ อีกสาเหตุที่ทำให้จีเอ็มเลือกบูอิคเป็น Core Brand สำหรับใช้ทำตลาดต่อไป ทั้งที่ยอดขายในสหรัฐอเมริกาแทบจะกระอักเลือดแม้ว่าจะจ้างพี่เสือไทเกอร์ วู้ดส์มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ก็ตาม
ดังนั้น ตรงนี้ที่ว่างในการเจาะตลาดระดับส่วนบนเพื่อมองหาพื้นที่ให้โฟล์คฯ สามารถยืนอยู่ได้ ยังพอมีความเป็นไปได้
ไมเนอร์เชนจ์ครั้งนี้สามารถสร้างความแตกต่างในด้านรูปลักษณ์ได้อน่างชัดเจนด้วยการปรับปรุงรูปลักษณ์ด้านหน้าให้สอดคล้องกับแนวทางการออกแบบของรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ของโฟล์คฯ ซึ่งเรียกว่า DNA Design ผลงานของวอลเตอร์ เดอ ซิลวา นักออกแบบชาวอิตาลีที่เป็นหัวหน้าทีมออกแบบของโฟล์คฯ
ตัรถได้รับการพัฒนาบนพื้นตัวถังรหัส D1 ร่วมกับเพื่อนร่วมเครืออย่างเบนท์ลีย์ คอนติเนนตัล โดยทางเลือกของตัวถังยังเหมือนเดิมด้วย 2 ทางเลือก คือ รุ่นฐานล้อปกติ 2,881 มิลลิเมตรและตัวถังมีความยาว 5,060 มิลลิเมตร ตามด้วยรุ่นฐานล้อยาว 3,001 มิลลิเมตรและตัวถังมีความยาว 5,180 มิลลิเมตร พร้อมออพชั่นที่ลูกค้าสามารถเลือกได้ระหว่างรุ่นเบาะหลังปกติแบบ 3 ที่นั่ง หรือว่าแบบภูมิฐาน 2 ที่นั่งคั่นกลางด้วยคอนโซลกลาง
เครื่องยนต์มี 4 แบบแบ่งเป็นเบนซิน 3 รุ่น คือ วี6 3600 ซีซี. แบบ FSI หรือเบนซินไดเร็กต์อินเจ็กชัน 280 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 37.7 กก.-ม. ตามด้วยวี8 4200 ซีซี. 331 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 43.8 กก.-ม. และรุ่นท็อป W12 6000 ซีซี. 450 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 57.0 กก.-ม. ส่วนเทอร์โบดีเซลมีแบบเดียว วี6 3000 ซีซี. 240 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 50.9 กก.-ม. โดยทุกรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาแบบ 4MOTION
หวังว่าหลังปรับโฉมแล้ว น่าจะทำให้สถานการณ์ของโฟล์คฯ กับตลาดรถยนต์ระดับหรูดีขึ้นไม่มากก็น้อย แต่จะดีถึงขั้นส่งผลต่อเนื่องไปยังการผลิตเจนเนอเรชันที่ 2 ออกมาทำตลาดในอนาคตหรือไม่นั้น อันนี้คงยากเกินความคาดหมาย
ที่มา http://www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?newsID=9530000066674
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น