12 พฤษภาคม 2553

Hyundai Sonata : เบ่งกล้ามให้ขุมพลัง 2.0


Hyundai Sonata : เบ่งกล้ามให้ขุมพลัง 2.0
กระแสการนำระบบอัดอากาศมาใช้กับเครื่องยนต์ที่มีซีซีน้อยเพื่อให้มีเรี่ยวแรงหรือพละกำลังเท่ากับหรือมากกว่าเครื่องยนต์ที่มีทั้งจำนวนกระบอกสูบและซีซีเยอะกว่า แต่มีความประหยัดน้ำมันใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ซีซีน้อย ถือเป็นแนวทางใหม่ที่ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ และกำลังได้รับความนิยมอย่างมากโดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ฮุนไดเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายล่าสุดที่นำเสนอเทคโนโลยีนี้ผ่านทางรถยนต์ครอบครัวรุ่นนิยมอย่างโซนาตา ซึ่งแม้ว่าจะมากับเครื่องยนต์ 4 สูบเรียงที่มีความจุแค่ 2,000 ซีซี แต่เมื่อกางตารางทางเทคนิคดูจะพบว่าจำนวนม้าในคอกมีเยอะแบบไม่ธรรมดา

ความนิยมในแนวทางนี้เป็นผลมาจากการมองหาความประหยัดน้ำมันแต่คงสมรรถนะในการขับขี่ โดยก่อนหน้านี้ทางเมอร์เซเดส-เบนซ์มากับเครื่องยนต์ 4 สูบ 1,800 ซีซี ซูเปอร์ชาร์จ ที่เบ่งกล้ามได้ในระดับ 143-192 แรงม้า ก่อนที่แนวคิดนี้จะมาโด่งดังกับโฟล์คฯ ซึ่งเปิดตัวเครื่องยนต์ TSI หรือ Twincharger โดยจับระบบอัดอากาศมาติดตั้งในเครื่องยนต์บล็อกเล็ก แม้ว่าจะมีความจุเพียงแค่ 1,400 ซีซีเท่านั้น แต่มีระดับของแรงม้าให้เลือกตั้งแต่ 140 ตัวไปจนถึงในระดับ 180 ตัวกันเลยทีเดียว จากนั้นฟอร์ดจึงนำแนวคิด EcoBoost มาใช้และพัฒนาจนสามารถนำมาใช้งานได้จริงกับเครื่องยนต์ 4 สูบ และวี6

จุดเด่นของแนวคิดนี้คือ ความประหยัดน้ำมันที่ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์ที่มีแรงม้าเท่ากันแต่ทว่ามีจำนวนกระบอกสูบและซีซีเยอะกว่า ซึ่งถ้าเท้าขวาไม่หนักชนิดกดไม่ยั้งจนระบบอัดอากาศทำงานตลอด ความประหยัดน้ำมันที่ได้จากเครื่องยนต์ก็จะใกล้เคียงหรือมากกว่าเครื่องยนต์ที่มีความจุเท่ากัน แต่ถ้าอยากซิ่งก็กดได้เต็มๆ แบบไม่ต้องเกรงใจเพื่อให้เทอร์โบทำงาน ทำให้เครื่องยนต์มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน เพราะถ้าอยากได้ม้าเยอะก็ไม่จำเป็นจะต้องพัฒนาเครื่องยนต์ให้มีความจุหรือจำนวนกระบอกสูบเยอะอีกต่อไป

สำหรับฮุนได โซนาต้า 2.0T มากับเครื่องยนต์ 4 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว 2,000 ซีซีบล็อกใหม่ แถมด้วยระบบจ่ายน้ำมันเข้าสู่ห้องเผาไหม้โดยตรง หรือ GDI และเทอร์โบแบบ Twin-Scroll เพื่อช่วยในการอัดอากาศเข้าสู่เครื่องยนต์ และปรับบูสต์เอาไว้สูงถึง 17.4 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว พร้อมเวสต์เกตทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้การควบคุมบูสต์ของเทอร์โบมีความแม่นยำมากขึ้น และปรับอัตราส่วนการอัดเอาไว้ที่ 9.5 : 1

ผลคือ กำลังสูงสุดในระดับ 274 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 37.1 กก.-ม. ที่ 1,800-4,500 รอบต่อนาที ซึ่งเป็นกำลังที่ได้จากเครื่องยนต์แบบวี6 ที่มีความจุในระดับ 3,000 หรือ 3,500 ซีซีเลยทีเดียว หรือเครื่องยนต์มีแรงม้าต่อลิตรอยู่ที่ 137 แรงม้าต่อ 1 ลิตรส่งกำลังสู่ล้อหน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะพร้อมโหมด SHIFTRONIC สำหรับเลือกเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์เอง ส่วนความประหยัดสำหรับการขับในเมืองอาจจะไม่หวือหวามาก เพราะอยู่ที่ 8.9 กิโลเมตรต่อลิตร แต่เมื่ออยู่บนไฮเวย์หายห่วงขยับขึ้นมาเป็น 13.8 กิโลเมตรต่อลิตร

การพัฒนามีขึ้นบนตัวถังแบบ 4 ประตูของโซนาต้าใหม่ในรหัส YF ที่ได้รับการปรับปรุงและเสริมแต่งเพื่อความสปอร์ตในอีกระดับ ทั้งล้อแม็ก 18 นิ้ว ปลายท่อไอเสียออก 2 ฝั่งซ้าย-ขวาและมูนรูฟแบบพานอรามิกควบคุมด้วยไฟฟ้า ขณะที่ระบบช่วงล่างมีการปรับความแข็งโดยเฉพาะในเรื่องการบิดตัวและความหนึบให้ดีขึ้นจากรุ่นมาตรฐาน 25 และ 17% ตามลำดับ

การทำตลาดจะมีขึ้นในสหรัฐอเมริกาปลายปีนี้พร้อมกับรุ่นไฮบริด ส่วนราคายังไม่มีเปิดเผยออกมา แต่เชื่อว่าน่าจะแพงกว่า 24,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 816,000 บาทซึ่งเป็นรุ่นท็อปของเครื่องยนต์ 2,400 ซีซีไม่มาก

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น