ใส่ใจลมยางสักนิด...เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตทั้งคน และรถ
ศัตรูตัวฉกาจที่ทำให้รถสิ้นเปลืองน้ำมัน ได้แก่ การเร่งเครื่องแรงๆ และการเบรก
ผู้ขับรถโดยทั่วไปสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้มากถึง 37% เพียงแค่ออกรถเบาๆ
ขณะที่สหรัฐเมื่อถึงช่วงซัมเมอร์ ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนนิยมขับรถท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ
สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ และกลุ่มรณรงค์เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ยวดยาน จึงออกมากระตุ้นให้ชาวอเมริกัน
หันมาใส่ใจกับ "ยางรถยนต์" ส่วนประกอบสำคัญของรถที่ไม่ค่อยมีใครใส่ใจนัก
คอลัมน์ Tricks & Tips เห็นว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจจึงนำมาถ่ายทอดต่อ
ผู้เชี่ยวชาญด้านยางรถยนต์ในสหรัฐเตือนว่า
บทลงโทษจากการละเลยส่วนประกอบหลัก ที่จะพาเราเดินทางไปบนท้องถนนได้อย่าง ปลอดภัย
อาจหนักหนาสาหัสเกินคาด
ขณะที่ แมตต์ เอ็ดมันด์ รองประธาน บริษัท ไทร์ แร็ค ผู้ค้าปลีกยางรถยนต์ทางไปรษณีย์ และอินเทอร์เน็ต ชี้แจงว่า
ยางรถยนต์ที่สึกกร่อนอาจยังมีประสิทธิภาพดีเมื่อขับในสภาพอากาศแห้ง
แต่ถ้าเจอถนนเปียกๆ ก็อาจลื่นแฉลบได้ง่าย และรถยนต์จำนวนมากในสหรัฐมียางอ่อนเกินไปหรือไม่ก็แข็งเกินไป
เอ็ดมันด์ กล่าวว่า ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดูแลลมยาง
ลมยางที่เหมาะสมจะช่วยประหยัดพลังงาน และสภาพยางรถยนต์
เราควรเปรียบเทียบยางรถยนต์กับรองเท้า รองเท้าเก่าๆ มักให้ความรู้สึกสบาย
แต่เราจะไม่รู้สึกถึงรอยโหว่ที่พื้นรองเท้า จนกว่าจะสวมออกไปเดินย่ำฝนนั่นแหละ
สมาคมผู้ผลิตยางสหรัฐแนะนำว่า เจ้าของรถที่ไม่ได้ตรวจเช็คลมยางในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ควรใส่ใจกับล้อรถของตนเองให้มากขึ้น โดยผลสำรวจของสมาคมพบว่า เจ้าของรถ 3 ใน 4 ล้างรถเดือนละครั้ง
แต่มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่ตรวจเช็คลมยางทุกเดือน และกว่า 80% ของผู้ขับรถไม่รู้ว่าจะตรวจเช็คลมยางอย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น รถยนต์ประมาณ 1 ใน 3 มีลมยางอ่อนกว่าที่ควรจะเป็น
ข้อมูลจากคณะกรรมการบริหารความปลอดภัยทางหลวง แห่งชาติสหรัฐระบุว่า
อุบัติเหตุที่เกิดจากลมยางอ่อนทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 660 ราย และบาดเจ็บประมาณ 33,000 รายในแต่ละปี
โดนัลด์ เชีย ประธานสมาคมผู้ผลิตยางสหรัฐ กล่าวว่า มีผู้ขับขี่ยวดยานไม่มากนักที่ดูแลลมยางอย่างเหมาะสม
และได้รับความปลอดภัยอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ยางรถยนต์ที่ได้รับการเติมลมอย่างเหมาะสมจะช่วยยืดอายุการใช้งาน และประหยัดพลังงานสูงสุด
ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าร้อนของสหรัฐ
อาจเป็นแรงดึงดูดใจสำคัญให้ผู้ขับรถหันมาใส่ใจลมยางมากขึ้น กระทรวงพลังงานสหรัฐประเมินว่า
ลมยางในระดับที่เหมาะสมจะช่วยประหยัดพลังงานได้ 3.3% ลมยางที่อ่อนเกินไปอาจทำให้สิ้นเปลืองพลังงานเพิ่มขึ้น 0.4%
เอ็ดมันด์จากไทร์ แร็ค อธิบายว่า ยางรถยนต์ที่มีลมอ่อนเกินไปจะมีแรงต่อต้านการหมุนมากขึ้น
ซึ่งจะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันมากขึ้น และตัวเลขผู้ขับรถประมาณ 80% ที่ไม่รู้วิธีตรวจเช็คลมยางอย่างเหมาะสม
แสดงว่าชาวอเมริกันทิ้งน้ำมันไปหลายพันล้านแกลลอนในแต่ละปี
เอ็ดมันด์ตั้งข้อสังเกตว่า ออกจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อเมื่อคิดถึงเรื่องนี้
โดยปกติผู้คนมักปล่อยให้ลมยางอ่อนตัวในช่วงหน้าหนาว
และอาจไม่ได้ตรวจเช็คลมยางมาตั้งแต่อุณหภูมิ 30 องศา
อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปทุก 10 องศา อาจส่งผลต่อลมยางประมาณ 1 ปอนด์
และยางรถยนต์เส้นหนึ่งจะสูบลมยางเฉลี่ยประมาณ 1 ปอนด์ทุกๆ 60 วัน
ด้าน ฟิล รีด บรรณาธิการที่ปรึกษาผู้บริโภค เว็บไซต์ข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอ็ดมันด์
จากไทร์ แร็ค กล่าวว่า ลมยางเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผู้บริโภคก็ยังมีหนทางประหยัดน้ำมันที่ดีกว่า
รีด กล่าวว่า ศัตรูตัวฉกาจที่ทำให้รถสิ้นเปลืองน้ำมัน ได้แก่ การเร่งเครื่องแรงๆ และการเบรก
ผู้ขับรถโดยทั่วไปสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้มากถึง 37%
เพียงแค่ออกรถเบาๆ ขณะการลดความเร็วในการขับขี่จาก 75 ไมล์ต่อชั่วโมง เหลือ 65 ไมล์ต่อชั่วโมง
ก็ช่วยประหยัดน้ำมันได้ประมาณ 11% แถมยังช่วยให้ไม่ต้องเสียค่าปรับจากการขับรถเร็วเกินไปด้วย
ขณะที่ การเคลียร์ของออกจากท้ายรถ เพื่อทำให้รถเบาขึ้น ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยประหยัดน้ำมัน
เร ไทสัน โฆษกคณะกรรมการบริหารความปลอดภัยทางหลวงแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า
ความปลอดภัยของยางรถยนต์เป็นเรื่องสำคัญ และยิ่งสำคัญมากสำหรับรถกระบะ
ผลวิจัยแสดงว่าผู้คนจำนวนมากไม่ใส่กับเรื่องนี้ และมักปล่อยให้ลมยางอ่อนเกินไป
คณะกรรมการบริหารความปลอดภัยทางหลวงแห่งชาติสหรัฐประกาศ เมื่อปีที่แล้วว่า
ภายใน 3 ปี รถใหม่ทั้งหมดที่จำหน่ายในสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ มินิแวน หรือรถกระบะ
จะต้องมีระบบเตือนผู้ขับขี่เมื่อลมยางอ่อนเกินไป
และตอนนี้มียานยนต์ส่วนหนึ่งติดตั้งระบบตรวจเช็คลมยาง ที่ได้มาตรฐานแล้ว แต่เอ็ดมันด์จากไทร์ แร็ค เห็นว่า
ระบบตรวจเช็คลมยางอัตโนมัติอาจทำให้ผู้ขับขี่ชะล่าใจ เขาแนะนำให้พกเครื่องวัดลมยางติดรถหรือติดบ้านไว้
และผู้ขับขี่ควรตรวจเช็คลมยางเองเป็นระยะๆ
ระดับลมยางที่เหมาะสมมักติดอยู่ที่ประตูด้านในของรถ หรือบริเวณห้องเครื่อง
เอ็ดมันด์ตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการบริหารความปลอดภัยทางหลวงบอกว่า
เครื่องตรวจเช็คลมยางอัตโนมัติจะเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบ เมื่อลมยางอ่อนตัวลง ต่ำกว่า 30%
แต่ในความเป็นจริง เมื่อถึงจุดนั้นแล้วประสิทธิภาพการบรรทุกน้ำหนักของรถ จะลดลงอย่างมาก
เขาและเพื่อนร่วมงานลองทดสอบกับรถบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 3 325 ซีไอ
และพบว่า ประสิทธิภาพของรถลดลงจนรับน้ำหนักได้แค่ 50 กว่ากิโลกรัมเท่านั้น
ซึ่งหมายความว่า แค่เอาคนเข้าไปนั่งในรถเพียงคนเดียวก็อาจทำให้น้ำหนักเกินได้แล้ว
ลองคิดดูว่าหากใช้เครื่องตรวจเช็คลมยางอัตโนมัติ เมื่อลมยางลดลง 29% ผู้ขับขี่จะยังไม่ได้รับสัญญาณเตือน
และไม่ทราบว่าลมยางอ่อนเกินไปแล้ว ยิ่งผู้ขับขี่ที่เช็คลมยางด้วยการใช้สายตากะเอาแทนการใช้เครื่องมือ
จะยิ่ง รู้ได้ยากขึ้น ดังนั้น จึงควรหาเครื่องวัดลมยางมาใช้ หรืออาศัยเครื่องวัดลมยางตามปั๊มน้ำมันที่มีอยู่ทั่วไป
โดยการตรวจเช็คลมยางควรทำเป็นประจำสัปดาห์ละครั้ง หรืออย่างน้อยเดือนละครั้ง
นอกจากการตรวจเช็คลมยางแล้ว
การดูแลเครื่องปรับอากาศในรถยนต์ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยประหยัดน้ำมันได้
ผู้เชี่ยวชาญจาก ศูนย์ทดสอบของ ทูฟ นอร์ด ในเมืองฮันโนเวอร์ เยอรมนี แนะนำว่า
ผู้ขับขี่ควรเลือกใช้ระบบปรับอากาศที่เหมาะสม และควรปิดสวิตช์ทุกครั้งเมื่อไม่จำเป็น
วิศวกรของทูฟ นอร์ด หนึ่งในผู้ให้บริการด้านเทคนิครายใหญ่สุดของเยอรมนี แนะนำด้วยว่า
เมื่อความร้อนภายในรถเพิ่มสูงขึ้นหลังจากจอดรถทิ้งในกลางแดดนานๆ การระบายความร้อนที่ดีที่สุดคือ
เปิดประตูให้หมดทุกด้าน เปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อคลายความร้อน แล้วจึงค่อยออกรถ
และอุณหภูมิภายในรถอยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็ควรปล่อยให้ลมจากภายนอกเข้ามาในรถอีกครั้ง
การควบคุมอุณหภูมิภายในรถอย่างระมัดระวังตลอดการเดินทาง
จะช่วยจำกัดการสิ้นเปลืองน้ำมันไปกับเครื่องปรับอากาศได้
โดยผู้เชี่ยวชาญแนะว่า อุณหภูมิภายในรถควรต่ำกว่าภายนอกประมาณ 5 องศา
โดยหลักการแล้ว ผู้ขับขี่ควรปิดเครื่องปรับอากาศทุกครั้งที่ไม่จำเป็น เพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงาน
และควรตรวจเช็คระบบปรับอากาศอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสองปีครั้ง
เนื่องจากส่วนประกอบหลักของเครื่องปรับอากาศเมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะสึกหรอ
และหากไม่มีการตรวจเช็คเลย เครื่องปรับอากาศจะเสื่อมสภาพลงประมาณ 5% ต่อปี
นฤมล คนึงสุขเกษม รายงาน
บทความจาก รุงเทพธุรกิจ
ที่มาhttp://www.raidai.com/modules.php?name=News&file=article&sid=696
ภาพจาก http://www.soil-net.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น