ดีลเลอร์ฮอนด้า-โตโยต้าจี้บริษัทแม่ เรียกความเชื่อมั่นคืนหวั่นกระทบยอดขายอีกระลอก
ดีลเลอร์โตโยต้า-ฮอนด้าวอนบริษัทแม่เร่งทำความเข้าใจลูกค้า หวั่นตลาดสะดุดซ้ำสอง ด้าน "โตโยต้า" ร่อนหนังสือชี้แจงยันรถในไทยไร้ปัญหา ระบุชัดผ่านมาตรฐานความปลอดภัยครบ ขณะที่ "ฮอนด้า" โชว์สปิริตเรียกรถกว่า 2.76 พันคันที่ผลิตใน ปี 2008 เข้ามารับการแก้ไข
ผลพวงจากนายอากิโอะ โตโยดะ ประธานบริษัทโตโยต้าออกมาแสดงความเสียใจต่อลูกค้าโตโยต้านอกรอบการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอส หลังจากมีการเรียกรถคืนหลายล้านคนในสหรัฐและยุโรป เพราะความบกพร่องของคันเร่ง
รวมถึงโฆษกฮอนด้าในนิวยอร์ก ออกมายืนยันว่าจะเรียกคืนรถยนต์ 646,000 คัน ทั่วโลก เพราะพบความบกพร่องที่อาจเป็นสาเหตุให้น้ำเข้าไปในกลไกสวิตช์หน้าต่าง จนทำให้ชิ้นส่วนมีความร้อนเกิน
ส่งผลทำให้ภาวะการขายรถยนต์ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยอยู่ในภาวะชะงักงัน ทั้ง ๆ ที่ตลาดเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัว โดยลูกค้าที่ต้องการซื้อรถใหม่รวมถึงลูกค้าที่ซื้อรถรุ่นที่มีการเรียกคืนไปแล้วอยากได้ความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของผู้ขายเองก็ต้องการให้บริษัทแม่เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว
แหล่งข่าวระดับบริหารดีลเลอร์โตโยต้าในเขตพื้นที่การขาย กทม. กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัญหาดังกล่าว แม้ว่าบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จะได้ทำหนังสือชี้แจงมายังตัวแทนจำหน่ายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาถึง รายละเอียดแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับรถยนต์โตโยต้าในต่างประเทศนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ใช้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพียงแต่มีรุ่นรถตรงกับที่ขายในบ้านเราคือ คัมรี่และอัลติสเท่านั้น
แหล่งข่าวกล่าวยอมรับว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสับสนให้กับลูกค้าบางกลุ่มมาก แต่เมื่อชี้แจงแล้วลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจ และยังไม่พบว่ามีลูกค้าเปลี่ยนการตัดสินใจแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้เราในฐานะที่ใกล้ชิดกับลูกค้าก็ต้องการให้บริษัทแม่ในประเทศไทย ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อสร้างความชัดเจน เพื่อให้ลูกค้าและประชาชนทั่วไปในวงกว้างได้เข้าใจ รวมถึงน่าจะมีการทำ แคมเปญหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างความมั่นใจในแบรนด์โตโยต้าให้มากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ประเด็นนี้แหล่งข่าวระดับบริหารดีลเลอร์ "ฮอนด้า" มีความรู้สึกคล้าย ๆ กัน และยิ่งรถยนต์ฮอนด้าที่พบข้อบกพร่องบังเอิญเป็นรถที่วางจำหน่ายในบ้านเราด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทแม่ได้ทำหนังสือชี้แจงมายังตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศแล้ว ซึ่งเชื่อว่า การประกาศความรับผิดชอบของบริษัทแม่ครั้งนี้น่าจะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย เนื่องจากบริษัทได้ออกมาแสดงความจริงใจเมื่อพบปัญหาและแสดงความรับผิดชอบ เชื่อว่าลูกค้าผู้ใช้รถยนต์ฮอนด้ารวมถึงผู้ที่กำลังจะเป็นลูกค้าของฮอนด้าในอนาคตจะเกิดความมั่นใจและเชื่อถือในรถยนต์ฮอนด้าเพิ่มมากขึ้น
"การเรียกคืนรถถือเป็นเรื่องปกติ ที่ค่ายรถต้องแสดงสปิริต ไม่ใช่ว่ารถจะมีปัญหาทุกคัน แต่เมื่อวิศวกรตรวจพบว่าอาจจะเกิดปัญหาได้ก็ต้องป้องกัน โดยเรียกรถในลอตนั้น ๆ เข้ามาตรวจสอบ ถ้าพบว่าบกพร่องก็แก้ไขให้ แม้ว่ารถที่เป็นปัญหาของฮอนด้าในประเทศไทยจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่หากบริษัทแม่ปล่อยปละละเลยก็อาจจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ได้" แหล่งข่าวดีลเลอร์ฮอนด้ากล่าว
นายวิเชียร เอมประเสริฐสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ชี้แจงว่า รถยนต์โตโยต้าทุกรุ่นที่ผลิตในประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่มีการเรียกรถกลับ 8 รุ่นในสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด
นายวิเชียรเปิดเผยว่า กรณีที่มีกระแสข่าวในการเรียกรถกลับเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยจากกลไกขาคันเร่งในรถยนต์ 8 รุ่น ที่ผลิตและจำหน่ายในสหรัฐอเมริกานั้น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ขอยืนยันว่าการออกแบบ วัสดุที่ใช้ในการผลิต รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวสำหรับรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยนั้น แตกต่างจากรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด
ซึ่งรถยนต์โตโยต้าที่ได้เรียกกลับในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Rav4 รุ่นปี ค.ศ. 2009-2010, Corolla รุ่นปี ค.ศ. 2009-2010, Matrix รุ่นปี ค.ศ. 2009-2010, Avalon รุ่นปี ค.ศ. 2005-2010, Camry รุ่นปี ค.ศ. 2007-2010, Highlander รุ่นปี ค.ศ. 2010 (ยกเว้นรุ่นเครื่องยนต์ไฮบริด), Tundra รุ่นปี ค.ศ. 2007-2010, Sequoia รุ่นปี ค.ศ. 2008-2010
นายวิเชียรกล่าวต่อไปว่า จากกรณีดังกล่าวที่พบในสหรัฐอเมริกา เกิดจากการตรวจสอบพบว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่กลไกขาคันเร่งอาจคืนตัวช้าในขณะลดความเร็ว ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของลูกค้าในการใช้รถก่อนที่จะได้รับอันตราย อันเป็นมาตรการขั้นพื้นฐานในการเอาใจใส่ลูกค้าให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุดในการใช้รถใช้ถนน"
เช่นเดียวกับบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำหนังสือชี้แจงกรณีการเรียกรถฮอนด้าเข้ารับบริการ โดยมีเนื้อหาว่า ปัญหาดังกล่าวนี้เกิดกับชุดควบคุมกระจกไฟฟ้าด้านคนขับ (power window master switch) อันสืบเนื่องมาจากน้ำที่ไม่สะอาดและเป็นตัวนำไฟฟ้าที่มีปริมาณมากจากภายนอก ไหลเข้าไปในแผงวงจรจนทำให้เกิดการลัดวงจรขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผู้ใช้รถเปิดหน้าต่างไว้ในขณะขับขี่เมื่อมีฝนตกหนัก ปัญหาดังกล่าวนี้ได้ตรวจพบในประเทศแอฟริกา สหรัฐอเมริกา และในยุโรปบางประเทศ (สำหรับในประเทศไทยยังไม่เคยได้รับรายงานปัญหาเดียวกันนี้เลย)
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว ทางบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด จึงตัดสินใจใช้มาตรการเชิงป้องกัน (precaution) ด้วยการเรียกรถฮอนด้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งหมดเข้ารับการตรวจเช็กและแก้ไข (recall) ซึ่งในประเทศไทยรถยนต์ฮอนด้าที่เข้าข่ายมีเพียงรุ่นเดียวคือ รถฮอนด้า ซิตี้ รุ่นปี 2008 จำนวน 2,760 คัน
ทั้งนี้บริษัทจะสามารถเรียกรถยนต์จำนวนดังกล่าวเข้ารับการตรวจสอบและแก้ไขตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป โดยทางบริษัทจะทำจดหมายถึงลูกค้าโดยตรงเพื่อทราบและให้นำรถของตนเองเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการฮอนด้าทั่วประเทศโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
บริษัทขอเรียนย้ำให้ทราบว่ารถยนต์ฮอนด้าที่ได้รับผลกระทบมีเพียงเฉพาะรถฮอนด้า ซิตี้ รุ่นปี 2008 จำนวน 2,760 คัน และสำหรับรถยนต์ฮอนด้ารุ่นอื่น ๆ นั้นไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าวนี้แต่อย่างใด มาตรการดังกล่าวนี้เป็นมาตรการในเชิงป้องกันที่บริษัทคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ฮอนด้าทุกคน ซึ่งเป็นหลักการทำงานของบริษัทเสมอมา
นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ในฐานะผู้ที่ คร่ำวอดในวงการรถยนต์เมืองไทย กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับสินค้าทุกประเภท ไม่เฉพาะแต่รถยนต์เท่านั้น และกรณีดังกล่าวก็มีมาช้านานคู่กับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยส่วนใหญ่ค่ายรถยนต์มักมี 3 วิธีให้เลือกปฎิบัติ คือ 1. ไม่สนใจและไม่รับผิดชอบ 2. ดำเนินการรับผิดชอบ แต่ไม่บอกหรือแจ้งให้ลูกค้าทราบ และ 3 คือแสดงความรับผิดชอบและออกมาประกาศอย่างชัดเจน และจากกรณีข้างต้นค่ายรถยนต์ทั้ง 2 ค่ายได้เลือกใช้วิธีที่ 3 ซึ่งถือเป็นความกล้าหาญ และเเสดงความรับผิดชอบ ซึ่งน่าจะได้รับ คำชมเชยมากกว่าติเตียน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ ฉบับที่ 4181
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02car01040253§ionid=0210&day=2010-02-04
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น