15 มีนาคม 2554

รู้หลัก 'ดัดแปลงรถ' ขับขี่ปลอดภัย...ห่างไกลอุบัติเหตุ

อยากมีรถสวยเท่ ขับไปไหน ๆ ก็มีแต่คนมอง คงหนีไม่พ้นต้องไปพึ่งพาร้านแต่งรถ

แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ต้องการดัดแปลงรถต้องไม่ลืมนึกถึงก็คือ ความปลอดภัยในการขับขี่ทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมทาง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ!!

ณัฐวุฒิ เจริญสุขะวัฒนะ นักแข่งรถผู้คร่ำหวอดในวงการรถยนต์มากว่า 35 ปี กล่าวถึงการตกแต่งหรือดัดแปลงรถให้ฟังว่า เป็นธรรมชาติของทุกคนที่มีรถก็อยากให้รถของตนเองสวย ดูดี เพราะโดยปกติรถยนต์ที่ออกมาจากโชว์รูมหรือออกมาจากโรงงานมักจะมีรูปแบบที่ธรรมดาเน้นการใช้งาน ผู้รักรถทั้งหลายจึงมักจะนำรถยนต์ไปแต่งเติมส่วนนั้น ส่วนนี้เพิ่มขึ้น เพราะในปัจจุบันมีร้านและอุปกรณ์ที่ตอบสนองในเรื่องนี้อยู่หลากหลายร้านด้วยกัน

การดัดแปลงรถที่ทำกันนั้น เริ่มจาก ในส่วนของ ล้อแม็กกับยาง เนื่องจากว่า ขนาดของยางที่ออกมาจากโรงงานจะเป็นขนาดมาตรฐานแต่ส่วนใหญ่จะเป็นขนาดที่เล็กเกินไป จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นด้วยเหตุผลประการแรก คือ ความสวยงาม และอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเกาะถนน เพราะยางที่ติดรถออกมาจากโรงงานจะมีซีรีส์หรือความสูงของยางค่อนข้างสูง

โดยปกติยางรถที่ซีรีส์มาก ๆ แก้มยางจะสูงตามไปด้วย ซึ่งจะมีผลตรงที่ว่า ถ้าเป็นการขับใช้งานแบบทั่ว ๆ ไป ตามปกติที่ต้องใช้ความนุ่มนวล ในเรื่องของการยึดเกาะถนนจะมีอาการโคลงเมื่อขับเลี้ยวโค้ง ที่ต้องใช้ความเร็วสูง เพราะล้อจะปลิ้นได้ง่าย ประกอบกับถ้าเติมลมยางไม่เหมาะสมจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ยางหลุดออกจากขอบกระทะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าต้องขับรถในช่วงที่ต้องใช้ความเร็วสูง ๆ จึงนิยมเปลี่ยนล้อแม็กกับยางกัน เพื่อให้ขนาดความกว้างของหน้ายางมีมากขึ้น พื้นที่ของยางเตี้ยลง ทำให้สัมผัสของยางกับหน้าถนนจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้มีการยึดเกาะติดถนนได้มากขึ้น

“ในส่วนของล้อบางคนจะเปลี่ยนล้อให้ใหญ่ขึ้น ตรงนี้จำเป็นต้องคำนวณให้ดี คือ ถ้าจะเปลี่ยนหรือดัดแปลงล้อรถจะต้องเปลี่ยนให้เกิดความสมดุลกับรถด้วย เพื่อให้มาตรวัดความเร็วไม่เพี้ยนมากนัก บางคนใส่ล้อใหญ่ ๆ โดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่การออกตัวก็หนัก ขับก็ลำบาก กินน้ำมัน ด้วย แต่มักจะไม่ค่อยสนใจในเรื่องเหล่านี้กัน เอาสวยเข้าว่า”

การจะเปลี่ยนล้อและยางหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการใช้งาน ถ้าซื้อรถมาเพื่อต้องการใช้งานในชีวิตประจำวันโดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งไม่ได้ใช้ความเร็วสูงมากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องเสียเงินเพิ่ม เพราะจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ยางจะมีอายุการใช้งานใกล้เคียงกันหมด แต่ถ้าเปลี่ยนแล้วใช้งานรถให้เต็มกับสมรรถนะ เช่น ใช้รถเพื่อแข่งกับเวลาในบางช่วงเวลา บางพื้นผิวถนนที่ต้องใช้ความเร็วสูง โดยต้องการการยึดเกาะถนนมาก ๆ การเปลี่ยนตรงนี้ก็จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้นในการขับขี่แต่ต้องคำนึงด้วยว่า การเปลี่ยนยางที่มีซีรีส์ต่ำ จะเหมาะในสภาพพื้นผิวถนนที่เรียบ เพราะยางมีโอกาสแตกได้ง่าย รวมทั้ง กระทะล้อเบี้ยวเสียรูปได้ง่ายอีกด้วย การใช้งานจึงต้องระวังค่อนข้างสูง

จากนั้นจะนิยมเปลี่ยนโช้คให้เตี้ยลงเรียกว่า โหลดเตี้ย ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี คนที่มีงบประมาณน้อยก็จะเลือกวิธีการตัดสปริง ซึ่งการทำอย่างนี้ เท่ากับไปเปลี่ยนแปลงมาตรฐานสโตรกหรือช่วงยึดของโช้คอัพ ซึ่งเหลือน้อยเกินไปสำหรับการใช้งานในสภาพท้องถนนบ้านเรา ส่งผลให้ซีลรั่ว น้ำมันก็จะไหลรั่วซึมออกมา ทำให้โช้คอัพเสีย การขับก็ค่อนข้างจะลำบาก นั่นคือ การดัดแปลงรถวิธีนี้ไม่ค่อยถูกต้องเท่าไรนัก สำหรับผู้ที่มีงบประมาณเพียงพอ ก็จะไปซื้อโช้คกับสปริงที่สำเร็จมาซึ่งในท้องตลาดมีอยู่หลายยี่ห้อด้วยกัน การเปลี่ยนอย่างนี้ก็จะได้ประสิทธิภาพของโช้คอัพเต็มที่

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการโหลดเตี้ย คือ ถ้าโหลดเตี้ยมากเกินไป โช้คอัพจะกระทบหรือที่เรียกว่ายัน ทำให้การขับรู้สึกว่าเหมือนไม่มีโช้คอัพ เพราะช่วงชักขึ้น-ลงของโช้คจะสั้น ถี่ขึ้น ทำให้คนที่นั่งในรถต้องรับแรงกระแทกเต็ม ๆ รู้สึกว่ารถสะเทือน รวมทั้ง ต้องคำนึงถึงขนาดยางด้วย ถ้าขนาดยางไม่ใหญ่มากจนเกินไป เวลาเลี้ยวล้อจะไม่ไปติดซุ้มบังโคลน แล้วก็ไม่ต้องใช้แรงมากในการเลี้ยวด้วย โดยเฉพาะรถที่ใช้พวงมาลัยเพาเวอร์จะช่วยได้ ตรงนี้ต้องใช้ขนาดของยางให้ถูกต้องด้วย รถจะได้ไม่กินน้ำมัน อีกทั้งไม่เป็นอันตรายหรือเป็นอุปสรรคในการขับขี่อีกด้วย

และที่มาคู่กัน คือ การยกสูง ซึ่งเป็นการทำให้จุดศูนย์ถ่วงของรถเปลี่ยนไป โดยจะทำให้รถมีการโคลงตัวมาก ทำให้การเลี้ยวโค้งในความเร็วสูง มีความอันตราย น่ากลัว มีความเสี่ยงเกิดขึ้น

“การดัดแปลงรถในลักษณะเช่นนี้ต้องมาดูการใช้งานแล้วว่า จะทำรถยกสูงไปใช้งานอะไร ถ้าต้องการหนีน้ำท่วม หรือนำรถไปใช้งานในพื้นที่ทุรกันดาร สมควรดัดแปลงรถให้สูงขึ้น เพราะจะเป็นการช่วยให้ใต้ท้องรถรอดพ้นจากอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้ ช่วยทำให้รถไม่เสื่อมสภาพเร็วกว่ากำหนด ซึ่งต่างจากโหลดเตี้ย หากนำรถไปใช้ในพื้นที่ทุรกันดาร หรือพื้นที่ที่น้ำท่วม ที่ลุ่ม ก็จะไม่เหมาะสม ท้องรถติดพื้นแน่ ๆ”

การยกรถให้สูงขึ้น จะต้องเปลี่ยนล้อและยางให้สมดุล เหมาะสมกันด้วย ไม่ใช่ยกรถสูงแต่ยังใช้ยางที่เป็นยางธรรมดา ปกติทั่วไป ตามหลักเมื่อยกรถสูงขนาดยางจะต้องใหญ่ขึ้น ด้านการขับจะมีอุปสรรคเหมือนกัน คือ ขับค่อนข้างลำบาก ต้องกะ ประมาณให้ดี ประการต่อมา คือ กินน้ำมัน รวมทั้งในเรื่องของมาตรวัดความเร็วก็จะเพี้ยนไปมาก ฉะนั้น คนที่ขับรถยกสูงจะต้องทำความเข้าใจด้วยว่า อาทิ ในเรื่องของการเปลี่ยนถ่ายน้ำมัน จำต้องมีการคิดคำนวณให้ดีด้วย

มาถึงการดัดแปลง ไฟหน้า ซึ่งถือว่ากำลังนิยมกันมาก ในช่วงนี้กระแสมาแรง ณัฐวุฒิ กล่าวถึงการดัดแปลงในส่วนนี้ว่า เป็นเรื่องปกติที่คนที่ขับรถในเวลากลางคืนต้องการทัศนวิสัยที่ดี การมองเห็นที่ชัดเจน แต่ถ้าสังเกตให้ดีโดยส่วนใหญ่แล้วรถยนต์มักจะติดฟิล์มดำกันมาก พอติดฟิล์มมืด แน่นอนจะขับสบายในเวลากลางวัน ไม่ร้อน แต่พอกลางคืนจะมองไม่เห็นแล้ว ฉะนั้น จึงแก้ปัญหาด้วยการดัดแปลงโดยจะต้องเพิ่มความสว่างของไฟหน้าให้มีความสว่างมากขึ้น เพื่อที่จะชดเชยกับฟิล์มที่ติดดำมืด

“เราลืมมองไปว่า สิ่งที่กำลังพยายามไปชดเชยกับฟิล์มที่ติดดำจนเกินไปทำให้เวลากลางคืนมองไม่ค่อยเห็นนั้น ถ้าเราไม่ติดฟิล์มดำจนเกินไปก็ไม่จำเป็นต้องใช้ไฟหน้าแสงสว่างมากขนาดนั้นในเวลากลางคืน โดยไฟหน้าที่นิยมเปลี่ยนกันจะเป็นหลอดซีนอน เป็นหลอดไฟที่ให้ความสว่างมากกว่าหลอดไฟทั่วไปหลายเท่า รวมทั้งมีความทนทาน ใช้ได้นาน

เมื่อเปลี่ยนแล้วทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นดีขึ้น สว่าง เห็นอะไรได้อย่างชัดเจน สบายเราแต่ลำบากเพื่อนร่วมทางเป็นอย่างมาก เพราะไฟซีนอนเป็นหลอดไฟที่ให้ความสว่างมาก จ้ามาก ทำให้เวลารถขับสวนกัน แสงไฟจะไปรบกวนสายตา แสงเข้าไปแยงตาคนขับฝั่งตรงข้าม ทำให้ไม่สามารถที่จะมองถนนได้เลย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายอีกด้วย”

การติดไฟหน้าที่ดีควรเป็นไฟสีขาวหรือเหลืองอ่อน ความเข้มของแสงไม่ควรเกิน 55 วัตต์ และติดตั้งสูงจากผิวทางถนนไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร รูปแบบการกระจายแสงต้องอยู่ในระดับตรงช่องจราจรและไม่รบกวนสายตาผู้ขับขี่ที่ใช้ถนนร่วมกัน

นอกจากนั้น ยังมี ไฟตัดหมอก ที่มักเปลี่ยนให้เป็นแสงสีขาว ซึ่งการใช้งาน
จริง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพควรจะเป็นแสงสีเหลือง และควรเปิดใช้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่หมอกลง ฝนตกหนัก มีควันหรือฝุ่นละอองมากเท่านั้น โดยปรับมุมแสงให้เหมาะสมในการใช้งาน

รวมทั้ง ไฟสปอตไลต์ ซึ่งติดอยู่ใต้กันชน บางคนดัดแปลงใส่อยู่ในระดับเดียวกับไฟหน้าเลย ตรงนี้เป็นเรื่องที่อันตราย เพราะลักษณะของสปอตไลต์ลำแสงจะออกมาแบบกระจาย อาจไปรบกวนสายตารถที่สวนกันได้ การดัดแปลงในส่วนนี้ต้องควบคุมเรื่องของมุมแสงให้เหมาะสม โดยแสงควรที่จะให้เห็นความสว่างจากหน้ารถไปประมาณ 2-3 เมตรเท่านั้น

ยังมีในส่วนของ ท่อไอเสีย ที่นิยมเปลี่ยนกันและเกิดผลกระทบน่าจะเป็นส่วนของ แคตตาไลติก คือ ตัวกรองไอเสีย ซึ่งปกติเป็นมาตรฐานอยู่แล้วที่รถทุกรุ่น ทุกคันจะต้องมี แต่ก็มีหลายคนที่ถอดตัวกรองไอเสียออก เพราะมันจะไปอั้น เนื่องจากตัวกรองไอเสียจะมีลักษณะเป็นไส้ พอเอาออกตัวกรองไอเสียออกก็จะโล่ง ไอเสียออกเร็ว พอไอเสียออกเร็วก็จะให้กำลังของเครื่องยนต์ดีขึ้น อัตราเร่งดีขึ้น ความเร็ว
ตีนปลายก็ดีขึ้น

“ผลที่ตามมา คือ เกิดมลพิษอย่างแน่นอน เพราะไม่มีการกรองของเสียก่อนปล่อยออกมา สิ่งที่ออกมาจึงเป็นของเสีย ล้วน ๆ ต่อมา คือ เสียงดัง ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่า รถคันนั้นจะมีตัวเก็บเสียงที่เรียกว่าไซเรนเซอร์อยู่กี่ลูก ปกติจะมี 2 ลูก อยู่ที่กลางรถหนึ่งลูก ท้ายรถอีกหนึ่งลูก ถ้าคันใดมี 2 ลูกก็จะดังน้อยกว่าที่มีลูกเดียวหรือไม่มีเลย โดยจะมีเสียง ทุ้มและดัง รบกวนผู้อื่นเป็นอย่างมาก แต่จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคนขับเพราะรถจะขับลื่นและเร็วขึ้น ตรงนี้อย่าลืมว่า เมื่อรถขับได้ลื่นขึ้น เร็วขึ้น การกินน้ำมันก็จะเพิ่มขึ้นไปตามสัดส่วนด้วยเช่นกัน”

ณัฐวุฒิ กูรูรถกล่าวทิ้งท้ายว่า การดัดแปลงรถเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้แต่ต้องทำอย่างเหมาะสมและถูกต้อง การทำอะไรที่ถูกกฎหมายก็จะสบายใจ ไม่ต้องกังวล รวมทั้ง จะได้ใช้รถบนท้องถนนกันอย่างสบายใจทุกฝ่าย และที่สำคัญคนขับต้องมีวินัย มีระเบียบให้กับตัวเอง พยายามใส่ใจทั้งตัวเองและคนรอบข้างให้มาก

’ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ก็ควรใส่ใจ ตรงนี้สามารถทำได้โดยการฝึกฝน ปลูกฝังกันได้ตั้งแต่เด็ก ๆ อยากให้คนใช้รถบนท้องถนนเป็นคนรุ่นใหม่ ที่รักษากฎระเบียบจราจร มีวินัยในการใช้รถ ใช้ถนน แล้วปัญหาบนท้องถนนจะเบาบางลง“.

++++++++++++++++++++++++++
ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจดัดแปลงรถ

1. ควรศึกษาการดัดแปลงรถในแต่ละส่วนเสียก่อน โดยไม่จำเป็นจะต้องศึกษาให้ท่องแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก่อนทำควรถามข้อมูลจากผู้รู้ โดยที่ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่รู้จริงหรือจากผู้ที่มีประสบการณ์มาแล้วและไม่โกหก เพื่อจะได้รู้ว่าการดัดแปลงในส่วนต่าง ๆ มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร

2. ควรดูสภาพรถด้วยว่า ควรจะดัดแปลงแค่ไหน เพราะบางครั้งการเปลี่ยนแปลงรถโดยไม่ดูสภาพรถอาจก่อให้เกิดปัญหาในส่วนอื่น ๆ ตามมาได้ เพราะอะไหล่ของรถย่อมเสื่อมไปตามอายุการใช้งาน จึงต้องดูส่วนประกอบอื่น ๆ ร่วมด้วยว่าเมื่อเปลี่ยนตรงนี้แล้วตัวที่รองรับอยู่ไหวหรือไม่ เหมือนกับการใส่รองเท้า ปกติใส่เบอร์ 5 ก็ใส่สบาย เดินสบาย แต่พอมาใส่เบอร์ 7 น้ำหนักมากขึ้น การเดินลำบาก ส่งผลไปถึงข้อเท้า ข้อเข่า รถก็เช่นเดียวกันจะลามไปยังส่วนอื่น ๆ ได้ ถ้าไม่คำนึงถึงสภาพของรถ

3. เมื่อมีความรู้แล้ว นำมาพิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะมาปรับเปลี่ยนกับรถของเรา เพื่อการนำมาใช้งานจะได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากการลงทุน

4. จากนั้นต้องพิจารณาในเรื่องของงบประมาณด้วย โดยให้เหมาะสมกับงบประมาณที่มีอยู่ จะได้ไม่เดือดร้อนทั้งกับตนเองและครอบครัว เพราะการดัดแปลงที่มากจนเกินไป บางครั้งไม่ได้ใช้ให้เต็มสมรรถนะตามที่เสียเงินไป การเปลี่ยนตรงนี้ก็ไม่มีประโยชน์ จึงควรทำให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งานและงบประมาณที่มีอยู่ อย่าทำให้งบบานปลาย เลือกทำให้สมเหตุสมผล อย่าใช้ความชอบ ความพอใจ เพราะการทำจะไม่เกิดประโยชน์ในการใช้งาน เสียเงินเปล่า

5. มีความรู้ด้านกฎหมาย เวลาดัดแปลงหรือปรับเปลี่ยนรถในส่วนใดจะได้ทำในขอบเขตของกฎหมายที่กำหนดไว้.

ที่มา ทีมวาไรตี้เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น