22 สิงหาคม 2553

Volkswagen Berlin Taxi : แท็กซี่ต้นแบบเมืองเบอร์ลิน

Volkswagen Berlin Taxi : แท็กซี่ต้นแบบเมืองเบอร์ลิน เอกลักษณ์ของเมืองใหญ่ซึ่งจะกลายเป็นที่จดจำของคนทั่วโลก นอกจากอาคารหรือสถานที่ซึ่งเป็น Landmark ของเมือง และของเล็กๆ อย่างเช่น ตู้โทรศัพท์ หรือตู่ไปรษณีย์แล้ว ระบบขนส่ง เช่น รถเมล์ หรือแท็กซี่ก็ถือเป็นอีกสัญลักษณ์ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะจดจำเมืองนั้นๆ ได้ เช่น ลอนดอน แท็กซี่ หรือเมื่อคิดถึงฟอร์ด คราวน์ วิคตอเรียสีเหลือง ก็ต้องนึกถึงนิวยอร์กอะไรทำนองนั้น

ตอนนี้โฟล์คสวาเกนจะทำอย่างนั้นให้กับเมืองเบอร์ลิน ด้วยการสร้างสรรค์แท็กซี่ต้นแบบรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า Berlin taxi Concept ออกมาจัดแสดง โดยเป็นการต่อยอดทางด้านแนวคิดให้สอดคล้องกับนโยบายของโฟล์คฯ ที่จะผลิตและพัฒนารถยนต์พลังไฟฟ้าเพื่อออกมาขายเป็นอีกทางเลือกในตลาดปี 2013 อีกด้วย

จุดเริ่มต้นของไอเดียนี้มาจากต้นแบบที่ชื่อ Milano taxi ซึ่งทางโฟล์คฯ นำออกเผยแพร่สู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน แต่ในตอนนั้นเป็นแค่งานดีไซน์ยังไม่มีคันจริงออกมาจัดแสดง และ Berlin taxi เป็นผลผลิตที่ดัดแปลงมาจากต้นแบบรุ่นนั้นและไม่ใช่งานขายฝันอีกต่อ เพราะมีคันจริงออกมาจัดแสดง และนำออกแล่นทดสอบบนถนน
ตรงนี้เป็นความสอดคล้องทางด้านความต้องการของโฟล์คฯ และเทศบาลเมืองเบอร์ลิน ซึ่งจะมีการปรับตัวให้สอดรับกับการเป็นนครที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเริ่มมีการรณรงค์ให้หันมาสนใจกับรถยนต์พลังไฟฟ้า ส่วนทางโฟล์คฯ เองก็ขานรับความต้องการด้วยการพัฒนารถยนต์ออกมารองรับด้วยแนวคิด National Platform for Electric Mobility ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า หากเริ่มที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีความแพร่หลายและเห็นผลในเรื่องของการลดมลพิษ ควรจะเริ่มที่แท็กซี่ที่แล่นอยู่บนถนนเป็นจำนวนมากเป็นอันดับแรก

ใครที่คิดว่าแท็กซี่จะต้องเป็นรถยนต์คันโตๆ เห็นทีจะต้องคิดกันใหม่ เพราะโฟล์คฯ พัฒนา Berlin taxi ให้เน้นความคล่องตัวสำหรับการใช้งานในเมืองด้วยตัวถังที่มีความยาวเพียง 3.73 เมตร สูง 1.6 เมตร และกว้าง 1.66 เมตร แต่ข้างในเพียบพร้อมด้วยความอเนกประสงค์เพื่อรองรับกับการบรรทุกทั้งคนและสัมภาระ
สำหรับรูปลักษณ์ภายนอกของตัวรถถูกกำหนดเอาไว้ว่าเป็นรถยนต์ทรงกล่องแบบประตูที่มีลักษณะสไลด์ไปทางด้านหลัง ซึ่งโฟล์คเชื่อว่าจะปลอดภัยที่สุดหากผู้โดยสารเข้าหรือออกจากตัวรถโดยที่ประตูด้านหลังเป็นแบบสไลด์เหมือนกับพวกรถตู้ เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกรถยนต์ที่แล่นอยู่บนถนนชนประตู ถ้าใช้ประตูในลักษณะเปิดอ้าออกแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้นประตูฝั่งผู้โดยสารจะมีลักษณะยาวจากเบาะด้านหน้าไปจนถึงด้านหลัง ขณะที่อีกฝั่งสำหรับผู้ขับ (รถยนต์พวงมาลัยซ้าย) จะมีแค่ประตูบานหน้าเท่านั้นเพื่อให้คนขับเข้าออก ซึ่งประตูเปิดได้กว้าง อีกทั้งตัวถังที่เป็นทรงสูง ยังทำให้การเข้าออกไม่มีปัญหาสำหรับฝรั่งตัวโตๆ

การจัดวางพื้นที่ในห้องโดยสารตอบสนองในด้านประโยชน์ใช้สอยเต็มที่ ซึ่งสำหรับแท็กซี่ในต่างประเทศ ที่มีการจำกัดจำนวนคนนั่งต่อคัน ทำให้การจัดวางตรงนี้สะดวกขึ้น ซึ่งเบาะนั่งด้านหลังรองรับผู้โดยสารได้ 2 คน คน และมีหน้าจอทัชสกรีนขนาด 8 นิ้วคล้ายกับ iPad ขนาดใหญ่วางอยู่ตรงเบาะหลังคนขับ
จอนี้จะทำหน้าที่เป็น Points of interest (POIs) บอกแจ้งเส้นทางและสถานที่น่าสนใจของเมือง รวมถึงราคาค่าบริการ และลูกค้าสามารถเลือกจ่ายผ่านบัตรเครดิตได้ รวมถึงยังสามารถปรับระดับของเครื่องปรับ อากาศผ่านทางหน้าจอนี้ได้ ขณะที่เบาะด้านหน้าฝั่งคนขับจะถูกโอบล้อมด้วยแผงคอนโซลเกียร์ที่ยาวและสูงเพื่อกั้นเป็นสัดส่วน พร้อมกับออกแบบเกียร์และเบรกมือให้รวมอยู่เป็นส่วนเดียวกัน

ส่วนฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าปล่อยโล่งให้เป็นพื้นที่สำหรับบรรทุกสัมภาระ เช่น กระเป๋าเดินทาง และตรงแผงหน้าปัดใกล้ๆ กับกระจกมองข้างจะมีช่องคล้ายๆ กับช่องของกระปุกออมสินสำหรับให้ผู้โดยสารที่กำลังขนสัมภาระลงเสร็จเรียบร้อยแล้วจัดจ่ายทิปให้กับคนขับ
ตัวรถขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีช่วงกำลังสูงสุด 85 กิโลวัตต์ หรือ 50 กิโลวัตต์สำหรับการผลิตกำลังแบบต่อเนื่องและคงที่ และอาศัยกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่แบบลิเธียม-ไอออนที่ถูกติดตั้งอยู่ใต้พื้นตัวถังเป็นแบบขนาด 45 kWh ขณะที่ตัวรถอาจจะหนักหน่อยเมื่อเปรียบเทียบกับขนาด เพราะอยู่ที่ 1,500 กิโลกรัม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะชุดแพ็คแบตเตอรี่ที่ต้องขนาดใหญ่หน่อย เนื่องจากตัวรถต้องแล่นให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ขืนขับได้นิดเดียว แล้วต้องชาร์จ รายได้หดกันพอดี

แต่แพ็คแบตเตอรี่ชุดนี้เมื่อชาร์จเต็มก็แล่นได้ 300 กิโลเมตร ขึ้นอยู่สไตล์การขับ ส่วนการชาร์จสามารถทำได้โดยที่โลโก้ VW บนกระจังหน้าจะมีช่องสำหรับชาร์จไฟ โดยการชาร์จแบบ Quick Mode เอาแบบแค่ 80% ก็รอเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ถ้าจะเอาเต็มก็ 3-4 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้าและระบบพื้นฐานของเครื่องชาร์จด้วยว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน

โฟล์คฯ บอกว่านี่ยังเป็นต้นแบบ แต่ก็ไม่หมายความว่าจะไม่มีโอกาสกลายเป็นจริง และถ้ารถยนต์พลังไฟฟ้ารุ่นแรกของตัวเองวางขายในปี 2013 เชื่อว่าน่าจะสามารถต่อยอดและนำไปสู่การผลิตเป็นจำนวนมาก เพื่อการใช้งานบริการในสไตล์แท็กซี่ได้
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น