29 กุมภาพันธ์ 2555

Rinspeed Dock+Go : แยกก็ได้ รวมร่างก็ดี

Rinspeed Dock+Go : แยกก็ได้ รวมร่างก็ดี
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทราบกันดีว่าเมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาของงานเจนีวา มอเตอร์โชว์ รินสปีด (Rinspeed) สำนักแต่งสัญชาติสวิสส์จะต้องมีอะไรแปลกใหม่ออกมาสร้างสีสันอยู่เป็นประจำ และในปีนี้ พวกเขามากับต้นแบบสุดฮ็อตที่ขายไอเดียการสร้างสรรค์งานมากกว่าการสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจ ทางด้านรูปลักษณ์เหมือนกับรถยนต์ต้นแบบที่เผยโฉมในช่วงหลังๆ โดยผลผลิตสำหรับจัดแสดงในปีนี้มีชื่อว่า ด็อก พลัส โก (Dock+Go)

ต้นแบบรุ่นนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยยึดเอาซิตี้คาร์รุ่นดังของค่ายสมาร์ท อย่างรุ่นฟอร์ทูมาต่อยอดทางความคิด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่ารถยนต์รุ่นนี้แม้ว่าจะมีจุดเด่นในเรื่องความคล่องตัว เพราะมีขนาดเล็กกะทัดรัด แต่ในเรื่องของขนาดเองก็ส่งผลต่อความหลากหลายในการใช้งาน โดยเฉพาะการแบกสัมภาระไปไหนมาไหน มันก็เลยกลายมาเป็นไอเดียสำหรับเรื่องนี้ขึ้นมา
สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การออกแบบด้านท้ายของตัวรถใหม่ พร้อมกับชุดต่อพ่วงพร้อมล้อที่เรียกว่า Pack เปรียบเสมือนกับเป็นเพลาที่ 3 ของตัวรถตัว โดยตัว Pack นี้สามารถเชื่อมต่อโดยตรงกับเข้าตัวรถ หรือจะเป็นรถพ่วงก็ได้ แล้วแต่ความต้องการของผู้ขับขี่ ซึ่งตัว Pack จะถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับกระบะท้าย เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับตัวรถ

ตัวรถที่นำมาพัฒนาเป็นเวอร์ชันไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งสมาร์ทมีขายอยู่แล้ว ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 25 กิโลวัตต์ แรงบิดสูงสุด 20.4 กก.-ม. โดยติดตั้งอยู่ที่ล้อหลังเหมือนกับรุ่นเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งขนาดตัวรถปกติจะมีความยาว 2.7 เมตร ส่วนตัว Pack จะมีความยาว 0.63 เมตรโดยความพิเศษของต้นแบบรุ่นนี้คือตัว Pack จะมีให้เลือก 2 แบบคือ Energy-Pack และ Space-Pack
Space-Pack คือ ชุดต่อเพิ่มแบบปกติที่เน้นพื้นที่ใช้สอย แต่ที่น่าสนใจคือ Energy- Pack นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่ในการบรรทุกสัมภาระแล้วยังจะทำหน้าที่เหมือนกับเป็นชุดต่อพ่วงในการทำให้ตัวรถกลายเป็นรถยนต์แบบ E-REV หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบขยายระยะทางการแล่นได้ เพราะในชุด Pack มีการติดตั้งเครื่องยนต์ขนาด 1000 ซีซี 71 แรงม้าเอาไว้ด้วย เพียงแต่ว่าไม่ได้ทำหน้าที่ชาร์จไฟ แต่เป็นการรับหน้าที่แทนหลังจากแบตเตอรี่หมดไฟ

หลังจากแบตเตอรี่ไม่มีไฟเหลือแล้ว การขับเคลื่อนจะถูกโอนมาที่เครื่องยนต์สันดาปภายในชุดนี้แทน แนวคิดนี้เรียกว่า VarioHybrid และสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาได้ เพราะกระบะท้ายที่ถูกเชื่อมเข้ามาเป็นเพลาที่ 3 อาจจะเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่มีความทันสมัยกว่าเครื่องยนต์สันดาปภายในอย่างเซลล์เชื้อเพลิง หรือติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าอีกตัวก็ได้
สำหรับการขับเคลื่อนในรูปแบบปกติ ตัวรถไฟฟ้าสามารถแล่นทำระยะทางต่อการชาร์จ 1 ครั้งได้ 100 กิโลเมตรที่ความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีความเร็วสูงสุด 95 กิโลเมตร/ชั่วโมง และอัตราเร่ง 0-50 กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 6 วินาที แต่เมื่อติดตั้งชุด Energy-Pack เข้าไปแล้ว จะมีอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 13.3 วินาที และความเร็วปลาย 145 กิโลเมตร/ชั่วโมงเลยทีเดียว

ถือเป็นอีกแนวคิดในการพัฒนารถยนต์ต้นแบบที่แปลกและไม่เหมือนใคร แต่น่าสนใจอย่างมาก
ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น