11 มิถุนายน 2553

20 ปีแห่งความหลังของ McLaren F1


20 ปีแห่งความหลังของ McLaren F1
ก่อนที่จะถึงยุคของการบุกตลาดรถสปอร์ตอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อแม็คลาเรน ออโตโมทิฟ ซึ่งแยกตัวออกมาเป็นบริษัทอิสระจากแม็คลาเรน กรุ๊ปนั้น บริษัทแห่งนี้เคยสร้างชื่อเสียงอย่างมากในแวดวงของซูเปอร์คาร์ด้วยตัวแรงที่ชื่อว่าแม็คลาเรน F1 ซึ่งได้รับการบันทึกว่าเป็นรถสปอร์ตในสายการผลิตที่ใช้เครื่องยนต์แบบหายใจเอง หรือ NA ซึ่งมีฝีเท้าจัดที่สุดในโลก
ในตอนนี้ทางแม็คลาเรน ออโตโมทิฟจัดการฉลองในวาระครบรอบ 20 ปีของการก่อกำเนิดซูเปอร์คาร์ตัวแรงรุ่นนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนกับรากฐานที่นำไปสู่การเตรียมทำตลาดของซูเปอร์คาร์รุ่นใหม่อย่าง MP4-12C ซึ่งจะเริ่มในต้นปีหน้า
หลายคนอาจจะงงว่ารถสปอร์ตรุ่นนี้ถูกผลิตออกขายในปี 1992 ไม่ใช่หรือ แต่ทำไมถึงฉลองครบรอบ 20 ปีล่ะ ซึ่งทางแม็คลาเรนชี้แจงว่าโปรเจ็กต์นี้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1990 โดยก่อนหน้านั้นในปี 1988 หลังจากที่ทีมแม็คลาเรนประสบความสำเร็จอย่างมากในการแข่งขัน F1 จากการร่วมมือกับ ฮอนด้า และ 2 นักแข่งชั้นนำของโลกคือ ไอร์ตัน เซนน่า และอแลง พรอสต์ ผู้บริหารของแม็คลาเรนเริ่มเกิดความคิดที่จะขยายแนวรุกด้วยการผลิต ‘รถสปอร์ตที่ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา’ โดยอาศัยองค์ความรู้จากมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกอย่าง F1 มาเป็นพื้นฐาน
ผลคือ การก่อตั้งทีมงานที่รับผิดชอบโปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 1990 ซึ่งนี่แหล่ะคือ เหตุผลที่ว่าทำไมแม็คลาเรน F1 ถึงฉลองครบรอบ 20 ปี ก่อนที่จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 พฤษภาคม 1992 ที่โมนาโก และรถสปอร์ตคันแรกในไลน์ผลิตถูกส่งถึงมือลูกค้าอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 1993

ตลอดปี 1992-1998 แม็คลาเรนมีการผลิตรุ่น F1 ออกมารวมแล้ว 106 คันไม่ว่าจะเป็นรถสำหรับการใช้งานบนถนน รถแข่ง หรือต้นแบบ
จากเทคโนโลยีสนามแข่งสู่การใช้งานบนถนน
แม็คลาเรนถือเป็นทีมแข่ง F1 ที่นำวัสดุอย่างคาร์บอนไฟเบอร์มาใช้ในการผลิตรถแข่ง F1 เมื่อปี 1981ซึ่งได้กลายเป็นวัสดุมาตรฐานสำหรับการผลิตรถแข่ง F1 จนถึงยุคปัจจุบันไปแล้ว และก็เช่นเดียวกันแม็คลาเรน F1 คือ รถสปอร์ตในสายการผลิตคันแรกของโลกที่มีการนำวัสดุชนิดนี้มาใช้ในการสร้างตัวถังแบบโมโนค็อก
โดยค็อกพิตที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์มีน้ำหนักเบามาก เพียง 100 กิโลกรัมเท่านั้น แต่สามารถสนองตอบมาตรฐานในด้านความแข็งแรงทนทานและความปลอดภัยในระดับสูง ขณะที่ประตูซึ่งใช้วัสดุนี้ในการผลิตเช่นกัน มีน้ำหนักเพียง 7 กิโลกรัมต่อบานเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นน้ำหนักที่รวมคานกันกระแทกด้วย
นอกจากคาร์บอนไฟเบอร์แล้ว แม็คลาเรนยังนำวัสดุที่มีราคาแพงแต่น้ำหนักเบามาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนตัวถังและวัสดุภายในของซูเปอร์คาร์รุ่นนี้ ซึ่งก็มีทั้งเคฟลาร์, ไททาเนียม, ทอง และแม็กนีเซียม
ตัวรถได้รับการออกแบบโดยกอร์ดอน เมอร์เรย์ และปีเตอร์ สตีเวนส์ โดยใช้เลย์เอาท์ตัวถังแบบเครื่องยนต์วางกลางลำและขับเคลื่อนล้อหลัง และที่แปลกคือเป็นสปอร์ตแบบ 3 ที่นั่ง โดยวางตำแหน่งคนขับให้อยู่ตรงกลาง และประกบด้วยผู้โดยสารฝั่งซ้าย-ขวา เพื่อให้สัมผัสที่คล้ายกับเวลานั่งในค็อกพิตของรถแข่ง F1 และตำแหน่งนี้เป็นจุดที่อยู่ในทัศนวิสัยที่ดี สามารถมองเห็นได้รอบด้าน
ว่ากันว่าไอเดียนี้ทางเมอร์เรย์สเก็ตช์ภาพขึ้นมาในระหว่างการเดินทางกลับจากการแข่งขันรายการอิตาเลี่ยน กรังด์ปรีซ์ 1988 และส่งให้รอน เดนนิส ผู้ควบคุมทีมแม็คลาเรนพิจารณา ซึ่งทางเดนนิสก็เห็นชอบด้วย จนนำไปสู่ตัวแรงแห่งยุคซึ่งมีเรือนร่างความยาว 4,287 มิลลิเมตร กว้าง 1,820 มิลลิเมตร สูง 1,140 มิลลิเมตร ระยะฐานล้อ 2,718 มิลลิเมตร และน้ำหนัก 1,140 กิโลกรัม

.The Longtail หรือแม็คลาเรน F1 GT (คันสีน้ำเงิน) ถูกผลิตออกมาขายในปี 1997 เพื่อสอดคล้องกับกฎ Homologation ของการแข่งขัน ส่วนคันสีเหลืองเป็นรุ่น LM ที่มีการผลิตออกมาเพียง 5 คันเท่านั้น
ทางออกของเครื่องยนต์ที่ ‘เกือบ’ เป็นฮอนด้า และอีซูซุ
ในช่วงนั้น ทีมแม็คลาเรนใช้เครื่องยนต์ของฮอนด้าในระหว่างการแข่งขัน F1 ซึ่งแม็คลาเรนก็เป็นทีมสุดท้ายที่ฮอนด้าร่วมหัวจมท้ายในการแข่งขัน F1 ยุคที่ 2 ของตัวเองก่อนเลิกแข่งไปเมื่อสิ้นสุดซีซั่น 1992 ตรงนี้ทำให้การทำงานของแม็คลาเรนมีความใกล้ชิดกับทั้งฮอนด้า และตัวเซนน่าซึ่งเป็นนักแข่งของทีม
เมอร์เรย์เผยผ่านทางหนังสือ ‘A Car Dear to my mind’ ว่า เขาเองมีโอกาสไปเยือนศูนย์อาร์แอนด์ดีของฮอนด้าที่โตชิกิ ประเทศญี่ปุ่นหลายครั้ง และก่อนที่จะเลือกเครื่องยนต์ให้กับแม็คลเรน F1 เขาลองขับทั้งฮอนด้า NSX รวมถึงรถสปอร์ตหลายรุ่นทั้งของเฟอร์รารี่, ลัมบอร์กินี และปอร์เช่ แต่สุดท้ายด้วยความสัมพันธ์และความเชื่อมั่น เขาเลือกฮอนด้าให้ผลิตเครื่องยนต์ให้ แต่ก็ไม่สำเร็จ
‘ผมเสนอให้เขาผลิตเครื่องยนต์บล็อกใหญ่ขนาดวี10 หรือ 12 ที่มีความจุ 4,500 ซีซีสำหรับใช้ในรถสปอร์ตของเรา พยายามหว่านล้อมและชักจูงพวกเขาหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ทำให้เราต้องหันไปเลือกเครื่องยนต์วี12 ของบีเอ็มดับเบิลยูมาใช้แทน’
ข้อเสนอของเมอร์เรย์คือการใช้เครื่องยนต์วี12 ที่ใช้อยู่ในรถแข่ง F1 ของทีมแล้วนำมาปรับปรุงให้เหมาะกับการใช้งานบนท้องถนน โดยจะต้องมีเสื้อสูบที่มีความยาวขนาด 60 เซ็นติเมตร และสามารถผลิตกำลังออกมาได้ 550 แรงม้าโดยประมาณ ส่วนน้ำหนักอยู่ที่ 250 กิโลกรัม
นอกจากนั้นเขายืนยันว่าต้องการใช้เครื่องยนต์แบบ NA หรือ Naturally Aspirated (บางทีก็เรียก Normally Aspirated) หรือหายใจเองเพื่อนำมาวางในแม็คลาเรน F1 เพราะการติดตั้งระบบอัดอากาสอย่างซูเปอร์ชาร์จ หรือเทอร์โบชาร์จ แม้จะได้แรงม้าแบบทันใจ แต่ทว่าก็ต้องแลกกับข้อด้อยในเรื่องความทนทานของการใช้งาน

แม็คลาเรนประสบความสำเร็จในการแข่งเลอ มังส์ทันทีในปีแรกที่ลงแข่งขัน โดยคว้าแชมป์ Overall ในปี 1995
หลังจากฮอนด้าปฏิเสธ มีข่าวระบุว่าอีซูซุก็เสนอตัวเข้ามา โดยในตอนนั้นอีซูซุงสนใจที่จะเข้าร่วม F1 ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ถึงขนาดสร้างเครื่องยนต์วี12 3,500 ซีซี และทดสอบอยู่กับแชสซีส์ของรถแข่งโลตัสรุ่น 102C ที่ขับโดยจอห์นนี่ เฮอร์เบิร์ตที่ซิลเวอร์สโตน ในปี 1991 แต่สุดท้ายทางแม็คลาเรนก็ปฏิเสธไป เพราะว่าพวกเขาต้องการเครื่องยนต์ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วในสนามแข่ง F1 หรือไม่ก็จากผู้ผลิตรถยนต์ที่มีชื่อเสียง
ข้อสรุปก็มาลงตัวที่เครื่องยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยูซึ่งทางแผนกมอเตอร์สปอร์ตผลิตเครื่องยนต์ให้กับเมอร์เรย์เป็นแบบวี12 6,000 ซีซีในรหัส S70/2 รีดกำลังออกมาได้ 627 แรงม้า ที่ 7,400 รอบ/นาที ซึ่งมากกว่าที่เมอร์เรย์ต้องการ 14% แต่ก็มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นด้วยเป็น 266 กิโลกรัม ส่วนแรงบิดสูงสุดอยู่ที่ 66.3 กก.-ม. ที่ 5,600 รอบ/นาที
สมรรถนะของตัวรถถือว่าไม่ธรรมดาใช้เวลา 3.2 วินาทีสำหรับอัตราเร่ง 0-96 กิโลเมตร/ชั่วโมงใน 3.2 วินาที และ 9.4 วินาทีสำหรับ 0-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลา 11.1 วินาท ที่ความเร็ว 222 กิโลเมตร/ชั่วโมงสำหรับควอเตอร์ไมล์ และมีความเร็วสูงสุดแบบมีการควบคุมรอบเครื่องยนต์อยู่ที่ 372 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ 391 กิโลเมตร/ชั่วโมงเมื่อถอดตัวควบคุมรอบเครื่องยนต์ออกไป
F1 ได้รับการยอมรับว่าเป็นซูเปอร์คาร์ที่ฝีเท้าจัดที่สุดในโลก และคงตำแหน่งผู้นำในเรื่องนี้มาตลอดจนกระทั่งในปี 2008 ความเร้าใจของ F1 ก็ถูกทั้งบูกัตตี้ เวย์รอน, โคนิกเซ็กก์ CCR และ SS Ultimate Aero TTแซงหน้าไปได้ ซึ่งทั้ง 3 คันเป็นสปอร์ตที่ใช้ระบบอัดอากาศ แต่ถ้าพูดถึงสปอร์ตที่ใช้เครื่องยนต์แบบ NA แล้ว ยังไม่มีใครลบสถิติของ F1 ลงได้เลย

แม็คลาเรนในการแข่งเลอ มังส์ท ในปี 1995
ไม่ได้เด่นแค่ถนน แต่ยังยิ่งใหญ่ในสนามแข่ง
แม้จะเกิดจากเทคโนโลยีสนามแข่ง F1 แต่แม็คลาเรนก็นำ F1 ไปประกาศศักดาในการแข่งขันมาราธอน 24 ชั่วโมง หรือเลอมังส์อีกด้วย ซึ่งทางทีมได้พัฒนาตัวแข่งเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในคลาส GT1 ของเลอมังส์ปี 1995 และประสบความสำเร็จทันทีในครั้งแรกที่ลงแข่งขันโดยรถแข่ง GT1 ของแม็คลาเรน F1 ทำผลงานรวมในประเภท Overall ได้อย่างโดดเด่น สามารถเข้าเส้นชัยในอันดับที่ 1, 3, 4, 5 และ 13
คันที่ชนะเลิศการแข่งขันในปีนั้นขับโดยเจเจ เลห์โต้ อดีตนักแข่ง F1 ที่เป็นเพื่อนร่วมทีมเบเนตตองของมิชาเอล ชูมัคเกอร์, แยนนิก อัลมาส และมาซาโนรี่ เซกิยะ ซึ่งจากชัยชนะในครั้งนี้ทำให้แม็คลาเรนได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตด้วยการคว้าแชมป์ในรายการที่ถือเป็นสุดยอดของแต่ละประเภทการแข่งทางเรียบในเซอร์กิตทั้งแชมป์โลกฟอร์มูลา วัน, อินเดียนาโพลิส 500 หรืออินดี้ 500 และเลอมังส์ 24 ชั่วโมง
จากชัยชนะครั้งนี้ทำให้แม็คลาเรนผลิตเวอร์ชันพิเศษออกมาขายที่เรียกว่า F1 LM ซึ่งมีแค่ 5 คันเท่านั้น ปรับสเปกความแรงของเครื่องยนต์จาก 627 มาเป็น 628 แรงม้า ซึ่งนอกจากจะเป็น F1 Roadcar ที่แรงที่สุดแล้ว ยังถือเป็นหนึ่งในของสะสมที่นักเลงรถทั่วโลกต้องการเอามาเก็บในคอลเล็กชั่น

ตัวแข่งแม็คลาเรน F1 GTR ที่กวาดชัยชนะในการแข่งขัน GT ช่วงปี 1997 เป็นว่าเล่น
ในปี 1997 โครงการผลิตเวอร์ชันใช้งานบนท้องถนนของ F1 เข้าสู่โค้งสุดท้าย พร้อมกันนั้นทางแม็คลาเรนก็ผลิตรุ่นพิเศษที่เรียกว่า GT ออกมาขายตามข้อกำหนดในการเข้าร่วมการแข่งขัน GTR Race ในปีเดียวกันนั้น ซึ่งรุ่นนี้มาพร้อมกับการดัดแปลงตัวถังด้านหน้าและหลังให้มีโอเวอร์แฮงค์ยาวขึ้นหรือที่เรียกว่า Longtail ด้วยเหตุผลในเรื่องของการสร้างแรงกดขณะแล่นในสนามแข่ง
ตลอด 6 ปีที่อยู่ในตลาดนับจาก 1992-1998 แม็คลาเรนผลิตทุกเวอร์ชันของ F1 ไม่ว่าจะเป็นรถแข่งต้นแบบ หรือรถบ้านรวมแล้ว 106 คัน โดยแบ่งเป็น 64 คันสำหรับรุ่น Road car ใช้งานปกติ และ 5 คันสำหรับต้นแบบของรุ่นนี้, 5 คันในรุ่น F1 LM และ 1 คันเป็นต้นแบบของรุ่นนี้, 3 คันสำหรับรุ่น GT ที่ขายในปี 1997 ส่วนรถแข่งก็มี GTR แบ่งเป็นรุ่นปี 1995 และ 1996 อย่างละ 9 คัน ตามด้วย 10 คันสำหรับรุ่นปี 1997
ส่วนราคาขายของรุ่นธรรมดาในตอนแรก ทางแม็คลาเรนเปิดตัวออกมาด้วยตัวเลข 540,000 ปอนด์ (ในยุคนั้น) ซึ่งถือว่าไม่ธรรมดาเลย แต่สร้างเสียงฮือฮาได้อีกเพราะจากการประมูลครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2008 แม็คลาเรน F1 รุ่นธรรมดาจบลงที่ราคา 2.53 ล้านปอนด์ (113.5 ล้านบาท)
ใครคิดว่า ‘รถ’ ยิ่งเก่ายิ่ง (มูลค่า) ‘ลด’ เห็นทีจะต้องคิดกันใหม่แล้ว เพราะคงใช้ไม่ได้ทุกรุ่น

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น