21 พฤษภาคม 2553

เบนซ์เสริมอี-คลาสเปิดประทุนจ่อตามดีเซล

เบนซ์เสริมอี-คลาสเปิดประทุนจ่อตามดีเซล ปีทองของค่ายดาวแฉก “เมอร์เซเดส-เบนซ์” กวาดยอดขายเป็นว่าเล่น หลังจากลูกค้าอั้นการซื้อมานาน จากปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะปีนี้มีตัวธง “อี-คลาส” โฉมใหม่ลงเขย่าตลาดรถหรู และเดินหน้าปั้นยอดต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มทางเลือกหลากหลายให้กับเศรษฐีไทย ล่าสุดแนะนำเครื่องยนต์ดีเซลสู่ตลาดแบบรวดเร็วทันใจ ส่ง E250 CDI 204 แรงม้า ที่มากับเทคโนโลยีคอมมอนเรลรุ่นใหม่ ที่แรงได้ใจ แต่ประหยัดเชื้อเพลิง และลดมลพิษขึ้น เคาะราคาที่ 3.999 ล้านบาท แต่ใช่เมอร์เซเดส-เบนซ์จะหยุดอยู่เพียงแค่นี้ ยังคงรุกเสริมเขี้ยวเล็บให้กับอี-คลาสโฉมใหม่เต็มที่ เตรียมนำเข้า “อี-คลาส รุ่นเปิดประทุน” มาบุกตลาดช่วงหลังกลางปีนี้ หวังเอาคืนผู้นำเข้าอิสระ หรือเกรย์มาร์เก็ต ที่ชิงเปิดตัวไปก่อนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และถือเป็นสมาชิกรุ่นที่ 3 ของอี-คลาส ภายใต้การทำตลาดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทยE250 CDI


นับเป็นความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง สำหรับค่ายรถหรู “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์เคลียร์อี-คลาสโฉมเก่าในปีที่ผ่าน จนทำให้ค่ายตราดาวสามแฉกเก็บยอดขายไว้ได้อย่างงดงาม ขณะที่ภาพรวมตลาดรถยนต์เมืองไทยติดลบกว่า 10% และมาปีเสือดุความร้อนแรงกลับไม่ห่างหายไป จะเห็นได้เฉพาะในงานบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 2010 กวาดยอดจองไปเกือบ 1,200 คัน เป็นการทุบสถิติในรอบหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแรงผลักดันสำคัญมาจากอี-คลาสโฉมใหม่ เวอร์ชั่นประกอบในประเทศ หรือซีเคดี(CKD) ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมากจากผู้บริโภค

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ยากที่จะเข้าใจเหมือนกัน นอกจากจะสรุปได้ว่าลูกค้าได้อั้นการซื้อมานานช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากเตรียมรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และสถานการณ์ผันผวนทางการเมืองไทย แม้ในปีที่ผ่านมาจะมีลูกค้าซื้อเมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส โฉมเก่าเป็นอย่างมาก แต่หากพิจารณาดูแล้วจะเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ ที่เมื่อก่อนอาจจะยังไม่สามารถขยับมาใช้เมอร์เซเดส-เบนซ์ หรือรุ่นอี-คลาสได้ เมื่อจังหวะเคลียร์สต็อกรับโฉมใหม่ ด้วยการปรับราคาลงมาแบบสุดๆ และแคมเปญเป็นเจ้าของได้ง่าย จึงทำให้เกิดฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ขึ้นมา

ส่วนเมื่อเปิดโฉมใหม่ของอี-คลาส ยอดขายกลับยังพุ่งต่อเนื่อง โดยเฉพาะรุ่นประกอบในไทย หรือซีเคดี(CKD) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นั่นมาจากการผ่อนคลายของสภาวะเศรษฐกิจประกอบกับเป็นโฉมใหม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่นอี-คลาส จึงทำให้ฐานลูกค้าเดิมที่อั้นการซื้อมานาน แห่มาซื้อรถยนต์หรูตราดาวกันเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่เพียงอี-คลาสในรุ่นอื่นๆ ทั้งซี-คลาส และเอส-คลาส ต่างก็ได้รับการตอบรับอย่างดีเช่นกัน แม้แต่เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส คูเป้ โฉมใหม่ ยังมียอดจองไปหลายสิบคันแล้ว นับเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเมอร์เซเดส-เบนซ์ประเทศไทยจะหยุดอยู่เพียงนี้ ยังคงเดินหน้าปั้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตัวธงรุ่นอี-คลาสโฉมใหม่ ซึ่งได้แนะนำสู่ตลาดไทยไปแล้ว 2 โมเดล คือ แบบซาลูน และคูเป้ เพื่อให้ครบสูตรทางเลือกล่าสุดจึงได้ส่งเวอร์ชั่นซีเคดีของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส เครื่องยนต์ดีเซลสู่ตลาดไทย ซึ่งเดิมกำหนดจะทำตลาดประมาณช่วงกลางปี แต่กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติผ่านมาตรฐานไอเสียเสร็จแล้ว จึงทำให้เมอร์เซเดส-เบนซ์ประเทศไทยเปิดรับจอง ตั้งแต่ช่วงกลางงานบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ 2010 และแนะนำสู่ตลาดอย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนพฤศภาคมที่ผ่านมาอี-คลาส เปิดประทุน โดยเมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส ใหม่ เครื่องยนต์ดีเซล ที่ส่งทำตลาดเป็นรุ่น E250 CDI BluEFFICIENCY ELEGANCE มากับเทคโนโลยี CDI (Common-rail Direct Injection) รุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ มีอุปกรณ์หัวฉีด Piezo Injection ที่จำหน่ายน้ำมันด้วยแรงดันสูง 2,000 บาร์ และแรงอัดอากาศจากเทอร์โบ 2 ชุด (Compound Turbocharging) ที่มีขนาดต่างกัน โดยเทอร์โบขนาดเล็กทำงานที่รอบต่ำ ส่วนเทอร์โบขนาดใหญ่จะทำงานที่รอบสูง ส่งผลให้เครื่องยนต์ผลิตแรงบิดสูงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ห้องเผาใหม้ออกแบบให้สมบูรณ์มากขึ้น ทำให้อัตราสิ้นเปลืองโดยเฉลี่ยต่ำเพียง 16-17 กม./ลิตร และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศเฉลี่ย 154-159 กรัม/กม. นอกจากนี้เพลาถ่วงสมดุลคู่ (Two Lanchester Balancer Shafte) ยังช่วยให้การสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ลดลง ผู้โดยสารรู้สึกได้ถึงการทำงานที่เงียบ ราบเรียบ และนุ่มนวลขึ้น

E250 CDI BluEFFICIENCY ELEGANCE วางเครื่องยนต์ดีเซลแบบ 4 สูบ 16 วาล์ว เทอร์โบคู่ พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ขนาด 2.2 ลิตร กำลังสูงสุด 204 แรงม้า ที่ 4,200 รอบ/นาที พร้อมแรงบิด 500 นิวตัน-เมตร ที่รอบทำงาน 1,600 – 1,800 รอบ/นาที ความเร็วจากจุดหยุดนิ่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 7.8 วินาที และทำความเร็วสูงสุด 240 กม./ชม. โดยจำหน่ายในราคา 3.999 ล้านบาท

นี่จึงเป็นการเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้กับลูกค้า แต่ใช่ว่าเมอร์เซเดส-เบนซ์ประเทศไทยจะหยุดการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับรุ่นอี-คลาสเพียงแค่นี้ เพื่อให้ครอบคลุมทุกโมเดลที่ทำตลาดในต่างประเทศ และเป็นการรับมือกับผู้นำเข้าอิสระ หรือเกรย์มาร์เก็ต จึงเตรียมนำเข้าเวอร์ชั่นเปิดประทุนของอี-คลาสใหม่ออกมาอีกระลอก ซึ่งตามแผนจะเปิดตัวในช่วงหลังกลางปีนี้แน่นอน E-Class Cabriolet หรือรุ่นเปิดประทุนของอี-คลาส โฉมใหม่ เพิ่งถูกเกรย์มาร์เก็ตนำเข้ามาชิงลูกค้าไปก่อนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยเป็นรุ่น E250 CDI และ E250 CGI เคาะราคาที่ 5.29 ล้านบาท ส่วนเหตุผลที่ทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ประเทศไทย ไม่สามารถนำเข้ามาได้รวดเร็วเหมือนเกรย์มาร์เก็ต เป็นปัญหาเดิมๆ เช่นเดียวกับอี-คลาสแบบซาลูน นั่นคือต้องรอปรับเครื่องยนต์ที่จะนำเข้ามาทำตลาดในไทยเสียก่อน เพื่อให้สามารถรองรับน้ำมันไทยที่มาตรฐานไอเสียต่ำกว่าของยุโรปได้ ซึ่งกว่าจะเปิดตัวรุ่นนำเข้า หรือซีบียู(CBU) ก็ผ่านเลยมาถึงปลายปี ขณะที่เกรย์มาร์เก็ตตั้งแต่กลางปีที่แล้ว

เรื่องนี้นับว่าเป็นปัญหาหนักอกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ประเทศไทย เพราะรถยนต์ที่นำเข้ามาไม่ผ่านการปรับเครื่องยนต์ เมื่อใช้ไปสักระยะจะมีปัญหาเครื่องหยุดทำงานดื้อๆ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นเมอร์เซเดส-เบนซ์ป้ายแดงจอดตายอยู่ริมถนนบ่อยๆ ที่สุดก็ต้องเป็นเมอร์เซเดส-เบนซ์ประเทศไทยตามแก้ปัญหา เพื่อรักษาภาพพจน์แบรนด์เอาไว้ ไม่เหมือนบีเอ็มดับเบิลยูที่ประกาศนโยบายชัด ไม่รับซ่อมรถที่ขายผ่านเกรย์มาร์เก็ตเด็ดขาด

สำหรับรุ่นอี-คลาส เวอร์ชั่นเปิดประทุน เป็นสมาชิกรุ่นที่ 4 ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-คลาส โฉมใหม่ หลังจากแนะนำรุ่นซาลูน หรือซีดาน คูเป้ และเอสเตท หรือสเตชั่นแวกอนไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยรุ่นเปิดประทุนเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่สหรัฐอเมริกา ในงานดีทรอยต์ มอเตอร์โชว์ 2010 เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา และเริ่มจำหน่ายอย่างเป็นทางการในตลาดโลกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อี-คลาส เปิดประทุน เป็นโมเดลที่จะมาแทนรุ่นซีแอลเค(CLK) โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกับ อี-คลาส คูเป้ ที่เปิดตัวในเมืองไทยไปในงานบางกอกฯ มอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา และมียอดจองไปหลายสิบคันแล้ว เพียงแต่เปลี่ยนมาเป็นหลังคาอ่อนผ้าใบสไตล์คลาสสิค ที่สามารถเปิด-ปิดได้อัตโนมัติในเวลาเพียง 20 วินาที ขณะรถกำลังวิ่งด้วยความเร็วประมาณ 40 กม./ชม.

ทั้งนี้อี-คลาส เปิดประทุน ยังมีระบบ Aircap ที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นตัวเบี่ยงเบนลมด้านบนของกระจกหน้า โดยจะสามารถขยายได้ยาวถึง 6 เซนติเมตร และตัวป้องกันลมโกรกที่อยู่ระหว่างที่นั่งด้านหลัง ระบบดังกล่าวจะช่วยลดการตีไหลย้อนของลม ในขณะที่รถกำลังวิ่งอยู่ได้ และระบบยังสามารถทำงานได้ แม้จะวิ่งด้วยความเร็วสูงถึง 160 กม./ชม.

เครื่องยนต์ของอี-คลาส เปิดประทุน มีให้เลือกหลากหลายเช่นเดียวกับรุ่นอุ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลที่มี E220 CDI 170 แรงม้า รุ่น E250 CDI 204 แรงม้า และรุ่น E350 CDI 231 แรงม้า ส่วนเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ รุ่นE200 CGI 184 แรงม้า รุ่น E250 CGI 204 แรงม้า รุ่น E350 CGI 292 แรงม้า ไปจนถึงรุ่น E500 เครื่องยนต์เบนซิน 8 สูบ 388 แรงม้า ส่วนเมืองไทยคงทำตลาดเครื่องเบนซิน E250 หรือ E350 CGI ราคาใกล้เคียงกับเกรย์มาร์เก็ตอาจจะต่ำกว่าเล็กน้อย

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า “เมอร์เซเดส-เบนซ์” เดินหน้าเสริมเขี้ยวเล็บให้กับอี-คลาสโฉมใหม่อย่างต่อเนื่อง อาจจะมีเหลือก็เพียงรุ่นสเตชั่นแวกอน หรือเอสเตท ซึ่งเกรย์มาร์เก็ตได้นำเข้ามาทำตลาดแล้ว แต่รุ่นนี้กลับยังไม่มีในแผนทำตลาดของเมอร์เซเดส-เบนซ์ประเทศไทยปีนี้ แต่ไม่แน่หากลูกค้าเรียกร้องมากๆ อาจจะได้เห็นในช่วงโค้งสุดท้ายของปีก็ได้?

ที่มาโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น