30 มกราคม 2553

ภาพตั้งใจหลุด Fiat 500C


ภาพตั้งใจหลุด Fiat 500C
คอนเซ็ปต์ของเจ้า Fiat 500C คืออิสระและอารมณ์ ซึ่งคว้าดวงวิญญาณของรถเปิดหลังคายุคกิ่งพุทธกาลมาใส่เปลี่ยน ขุมพลังใหม่



รถหน้าตาแบบนี้คนจังหวัดนนทบุรีเขาคุ้นกันดีครับ และถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพราะมันถูกใช้เป็นแท็กซี่เมืองนนท์มาหลายยุคหลายสมัย ทุกวันนี้ยังพอเห็นออกมาวิ่งอยู่บ้าง แต่เข้าใจว่าจำกัดพื้นที่ใช้งานเฉพาะนนทบุรีเท่านั้นเพราะตัวมันเล็กมาก อาจเกิดอันตรายต่อผู้ขับขี่และโดยสารได้



Fiat 500 จากผู้ผลิตรถยนต์อิตาเลียนเริ่มเดินสายการผลิตครั้งแรกปี 2500 จนถึงปี 2518 ออกแบบโดยดังเต จิอาโคซา



รุ่นแรกคือ Nuova500 เน้นเป็นรถที่ใช้งานในเมือง และราคาประหยัด วัดจากหัวจดท้ายความยาวเพียง 3 เมตรเท่านั้นเอง เครื่องเดิมเป็นรุ่น 2 สูบ 479 ซีซี ระบาบความเย็นด้วยอากาศ เรียกว่าเป็น "ซิตี้คาร์" คันแรกของโลก



รถกระเปี๊ยก Fiat 500 ถูกผลิตออกมาเพื่อสนองความต้องการรถราคาประหยัดของตลาดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มันถูกออกแบบให้วางเครื่องไว้ตอนหลังแบบเดียวกับโฟลค์เต่า และ Fait 600 คันใหญ่กว่าที่ผลิตเมื่อ 2498



ถึงมันจะมีขนาดกระจิ๊ดริด แต่ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันเป็นรถสองที่นั่งยอดนิยมและใช้งานได้จริง ผมว่าแนวคิดของ Fiat 500 ยังเหมาะสำหรับโลกยุคปัจจุบันที่ต้องการพาหนะราคาประหยัด กินน้ำมันน้อย หาที่จอดรถง่าย และเดินทางกันแค่สองคนไม่เห็นต้องนั่งรถคันโตโชว์รวยเลย ยิ่งถนนกรุงเทพ-นนทบุรีติดยาวเป็นหลายกิโลเมตรคงไม่ต้องนึกถึงแรงม้ามหาศาลอะไรกันหรอกนะ



นอกจาก Fiat Nuova500 ยังมีรุ่นไมเนอร์เชนจ์ตามออกมาอีกหลายรุ่น รวมถึงรุ่นสเตชั่นวากอน และรุ่นสปอร์ต ก่อนยุติการผลิตในปี 2518 ก่อนหน้านั้นสองปีเพิ่งออกรุ่น Fiat 126 มาแต่ไม่ได้รับความนิยมเทียบกับบรรพบุรุษของมัน แต่สำหรับประเทศกลุ่มยุโรปตะวันออก Fiat 126 ขึ้นชื่อลือชาว่าทนโครต และประหยัดเชื้อเพลิงเป็นยอด


ผ่านมา 50 ปีพอดีพอดิบ ไม่รู้ใครมีความคิดซุกซุนเสนอปลุกตำนาน Fiat 500 หยิบเอาแบบร่างเดิมมาปรับแต่งเส้นสายลวดลายตามสไตล์ "เรโทร" เดินตาม New Beatle ค่าย Volkswagen และ MINI ค่าย BMW ต้อยๆ แต่ราคาถูกกว่า New Fiat 500 พอมาเมืองไทยแล้วผมไม่เห็นว่ารถราคา 1.6 - 1.8 ล้านบาทมันถูกตรงไหนเลย แต่ชอบมันสวยและแต่งขึ้น



หลังจากวางตลาดมา 2 ปี Fiat500 C ก็ตามมา เป็นรถเปิดประทุนซึ่งคงไม่เหมาะกับเมืองไทยหรอก แต่จะไปเปิดตัวครั้งแรกในงาน Geneva Motorshow แล้วค่อยเริ่มทำตลาดวางจำหน่ายในยุโรปช่วงหน้าร้อน



คอนเซ็ปต์ของเจ้า Fiat 500C คือ "อิสระและอารมณ์" ซึ่งคว้าเอาดวงวิญญาณของรถเปิดหลังคายุคกึ่งพุทธกาลมาใส่เปลี่ยนขุมพลังใหม่ให้สดใส ตกแต่งภายในให้ตะลึง และได้อารมณ์ย้อนยุคถึงแก่นแท้

เรือนร่างของ Fiat 500C มีขนาดเท่ากับรุ่นพื้นฐาน กล่าวคือ จากหน้าจดท้ายยาว 3.55 เมตร กว้าง 1.65 เมตร และสูง 1.49 เมตร มีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 รุ่น เริ่มจากรุ่น Multijet Turbodiesel ขนาด 1.3 ลิตร 75 แรงม้า เกียร์ธรรมดา 5 สปีด, รุ่นความจุกระบอกสูบ 1.2 ลิตร 69 แรงม้า และ 1.4 ลิตร 100 แรงม้าเครื่องยนต์เบนซิน มีให้เลือกทั้งระบบเกียร์ธรรมดาและเกียร์อัตโนมัติแบบ Dualogic ต่างรุ่นต่างสไตล์แต่ได้อารมณ์รักเก่าที่บางปะกง แรงม้าก็ไม่ใช่น้อย ถึงหน้าตาออกแนวย้อนยุคแต่เทคโนโลยีล้ำหน้าไปไกล



นอกจากหน้าตาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและผู้คนแล้ว Fiat 500C ยังทนทานใช้งานดีเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยพันธสัญญาใจที่ Fiat Automobiles ให้ไว้กับนักอนุรักษ์นิยมว่าจะปลอดก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้


ระบบ "Start&Stop" เป็นนวัตกรรมถูกนำเข้ามาใช้เป็นอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ให้ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงยิ่งขึ้น หมายความว่า ทุกครั้งที่หยุดรถและสับมาที่เกียร์ว่างแล้วปล่อยคลัตช์ เครื่องยนต์จะดับ และสตาร์ทเองอัตโนมัติเมื่อเข้าเกียร์ใหม่ รถตุ๊กๆ ในกทม.คงตาลุกวาว



รถเปิดปะทุนจากแดนมะกะโรนีคันนี้พัฒนาที่ Fiat Styling Center และผลิตที่โรงงาน Tichy ในโปแลนด์ โดยเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่เข้าไปจากสายการผลิตเดิมที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว มันถูกสร้างขึ้นบนโครงสร้างที่เป็นจุดแข็งของรุ่นพื้นฐาน ถึงจะตัวเล็กแต่แกร่งขึ้นชื่อ พื้นที่ภายในรถรองรับผู้ใหญ่ 4 คนได้สบาย และยังมีพื้นที่สำหรับสัมภาระให้พอตัว ด้านบนเปิดรับแสงแดดอบอุ่นจากทะเลเมดิเตอเรเนียน หรือถ้าเป็นหัวหิน หรือพัทยา ภูเก็ตก็พอไหวนะ
เห็นหลังคาเป็นผ้าร่มก็อย่าเพิ่งไปเหยียดหยามดูแคลน มันไม่ได้เอามือรูดปิดรูดเปิดเหมือนโรงแรมฉิมพลี แต่กดปุ่มสั่งเปิดปิดด้วยไฟฟ้า ค่อยๆ ย้วยเป็นชั้นเรียบร้อยคลุมกระจกหลัง มีไฟเบรคยกสูงตรงกลาง รถมีให้เลือก 3 สี ขาวงาช้าง, แดง และ ดำขำ สีผ้าใบหลังคาจะเข้ากับสีตัวรถอย่างเหมาะเจาะ และยังมีสีพิเศษให้เลือกสองสีคือ แดงมุก และเทาขาวออกแนวสปอร์ตสุดตัว



สวยสะดุดออกอย่างนี้ ไม่วายมีบางคนค่อนแคะว่า "อารมณ์ปลากระป๋อง ได้ใจจริงโว้ย"

ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น