04 กุมภาพันธ์ 2553

ซับคอมแพกต์ปีเสือดุ ดันมาสด้า2เจาะฐานค่ายใหญ่


ซับคอมแพกต์ปีเสือดุ ดันมาสด้า2เจาะฐานค่ายใหญ่
มาสด้าได้ใจหลังฟันยอดขายมาสด้า 2 กว่า 5,000 คัน เตรียมเสริมไลน์ด้วยมาสด้า 2 ซีดานต้นไตรมาส 2 คุยจะโกยยอดอีก 23,780 คันในปีนี้ โตโยต้าสวนหมัดด้วยการประกาศยึดแชมป์ทั้งตลาดรถยนต์นั่ง และรถปิกอัพ โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดซับคอมแพ็กต์ทั้งวีออส และยาริส ซึ่งปีที่ผ่านมาทำยอดรวมกันกว่า 58,721 คัน ส่วนซับคอมแพ็กต์ของฮอนด้าทั้งแจ๊สและซิตี้ทำยอดไล่ตามมาติดๆ 53,343 คัน

การเปิดตัวพร้อมกับการสร้างกระแสอย่างหนักของมาสด้า 2 ทำให้หลังเปิดตัวเพียงเดือนครึ่งก็ซิวยอดขายไปแล้วถึง 2,794 คัน และจอห์น เรย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ มาสด้า เซลส์(ประเทศไทย) จำกัด ยังระบุถึงยอดจองรถยนต์รุ่นดังกล่าวที่มีมาอย่างต่อเนื่อง และว่า “ขณะนี้มาสด้ากำลังเร่งส่งมอบรถให้กับลูกค้าอีกกว่า 2,500 คัน”

ด้วยยอดขายจากรถยนต์มาสด้า 2 ทำให้มาสด้าสามารถปิดยอดขายของปี 2552 ได้ถึง 13,241 คัน มีอัตราการเติบโต 18% เทียบกับยอดขายปี 2552 ที่ทำได้ 11,178 คัน ทั้งที่ตลาดรวมรถยนต์ในประเทศมีอัตราการหดตัวถึง 11% โดยเฉพาะตลาดปิกอัพหดตัวสูงสุด 21% แต่การที่มาสด้าสามารถยืนอยู่ด้วยยอดขายที่เป็นบวกได้ทั้งหมดมาจากผลงานของมาสด้า 2 นั่นเอง

ปี 2553 มาสด้าหวังว่ายอดขายจะเติบโตเป็นเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา ด้วยเป้าหมายราวๆ 35,000 คัน ในจำนวนนี้เกือบ 70% หรือประมาณ 23,000-24,000 คัน จะมาจากยอดขายมาสด้า 2 ขณะที่ตลาดหลักเดิมคือปิกอัพ BT-50 นั้น จะมียอดขายเพียง 6,400 คัน ทำให้เห็นถึงแผนการรุกตลาดรถยนต์ซับคอมแพ็กต์อย่างเต็มกำลังด้วยการเป็นโปรดักซ์ลีดเดอร์ของมาสด้าในประเทศไทย ปัจจัยที่มาสด้ามั่นใจคือ การเตรียมส่งมาสด้า 2 ในรุ่นซีดาน 4 ประตูเข้ามาเสริมตลาดในเดือนเมษายน ช่วงงานมอเตอร์โชว์ หรือต้นไตรมาสที่ 2 ของปีนั่นเอง

แผนการใช้มาสด้า 2เป็นโปรดักซ์ลีดเดอร์ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงกับคู่แข่งขัน ค่ายใหญ่ทั้งโตโยต้า และฮอนด้า ในเซ็กเมนท์ซับคอมแพ็กต์แบบ 5 ประตูหรือแฮชท์แบ็คนั้น ฮอนด้าแจ๊สถือเป็นผู้นำตลาดด้วยยอดขาย18,188 คัน และยังมีซิตี้ รถยนต์ซับแคมแพ็กต์ 4 ประตู ที่สามารถสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดขาย 35,115 คัน ส่วนซับคอมแพ็กต์ 4 ประตูนั้น โตโยต้า วีออส ยังครองความเป็นเจ้าตลาด 49,522 คัน ในปีที่ผ่านมา แต่ก็มียาริสที่ทำยอดขายได้ 9,199 คัน เป็นคู่ปรับสำคัญของฮอนด้า แจ๊สเช่นกัน

ที่ผ่านมาโตโยต้า พยายามสร้างการรับรู้ตัวผลิตภัณฑ์ทุกรุ่น โดยเฉพาะวีออส และยาริส ผ่านกิจกรรมแบบบีโลว์เดอะไลน์ เป็นการร่วมกับโชว์รูม ดีลเลอร์ที่มีอยู่กว่า 300 แห่ง เจาะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่โดยตรง และยังมีกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ต ที่นำรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นมาจัดแข่งขันในรายการวีออส และยาริส วัมเมคเรซ เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่มีความเด่นในด้านสมรรถนะ และการตกแต่งที่สวยงาม เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นคือกลุ่มวัยรุ่น และวัยเริ่มต้นทำงานเป็นหลัก และกลุ่มเหล่านี้ส่วนหนึ่งชื่นชอบกีฬาประเภทมอเตอร์สปอร์ตด้วยเช่นกัน

ด้วยชื่อชั้นแบรนด์โตโยต้า เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่การันตีความมั่นใจต่อผู้บริโภค จึงไม่น่าแปลกใจที่วีออส ครองส่วนแบ่งตลาดเซ็กเมนท์รถยนต์ขนาดซับคอมแพ็กต์ได้ถึง 40.7% ในปีที่ผ่านมา แต่ฮอนด้าซิตี้เองก็มีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างเหนียวแน่นเช่นกัน และต้องยอมรับว่า ซิตี้โฉมปัจจุบันถูกออกแบบได้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคโดยเฉพาะคนไทยที่ ต้องการรถยนต์นั่ง เน้นความกว้างขวางของห้องโดยสารแม้จะเป็นรถขนาดซับคอมแพ็กต์ก็ตาม รวมถึงสมรรถนะที่มีแรงม้าสูงที่สุดในเซ็กเมนท์คือ 120 แรงม้า จากขนาดเครื่องยนต์ 1500 ซีซี. และยังมีจุดเด่นในด้านความประหยัดพร้อมๆ กัน

ส่วนยอดขายวีออส และซิตี้ มียอดขายห่างกันในระดับ 14,000 กว่าคันน หรือเทียบต่อเดือนแล้วโตโยต้าขายดีกว่าเดือนละ 1,000 คัน เซ็กเมนท์นี้โตโยต้าคงไม่ปล่อยให้คู่แข่งทำยอดขายขึ้นมาแซงได้ เพราะถือเป็นเซ็กเมนท์ที่ทำตัวเลขเชิงปริมาณได้สูง รองๆ จากตลาดรถปิกอัพ ดังนั้นกิจกรรมการตลาดในปีที่ผ่านมา จะยังคงดำเนินการต่อเนื่องและเชื่อได้ว่าอาจรุกหนักว่าเดิมทั้งเรื่องระยะเวลา และงบประมาณ

ด้านฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)นั้น ยอดขายในเซ็กเมนท์ซับคอมแพ็กต์เดิมมาจากรุ่นแจ๊ส แต่หลังการปรับโฉมซิตี้ ในโมเดลปัจจุบัน ยอดขายซิตี้กลับดีดตัวขึ้นมาแซงฮอนด้าแจ๊ส ฮอนด้ามองว่าสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้รถยนต์คนไทยส่วนใหญ่ยึดติดกับรถยนต์นั่งแบบ 4 ประตูมากว่ารถยนต์แฮชท์แบ็ค แต่ซิตี้โฉมเดิม ออกแบบได้ไม่ตรงกับความต้องการมากนัก ทำให้ซิตี้โฉมก่อนมียอดขายไม่มากเหมือนโฉมปัจจุบัน

จุดเปลี่ยนรวมถึงภาพการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดรถยนต์ซับคอมแพ็กต์ในปีนี้ เกิดขึ้นจากการประกาศส่งรถยนต์มาสด้า 2 ซีดาน 4 ประตู รุกตลาดซับคอมแพ็กต์ของค่ายมาสด้า ด้วยเป้ายอดขายที่วางไว้ถึง 23,780 คัน โดยกว่าครึ่งจะมาจากรุ่น 4 ประตู และต้องแข่งกับวีออส และซิตี้ ของค่ายใหญ่ หากเทียบตัวเลขแล้วเป้าของมาสด้าอาจมีปริมาณไม่ถึงครึ่งของโตโยต้า และฮอนด้า แต่ด้วยตลาดรวมรถยนต์ในปีนี้ที่คาดไว้กว่า 600,000 คัน ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่า ในกลุ่มซับคอมแพ็กต์มาสด้าจะสามารถเฉือนไปครองได้ทั้งหมด ทั้งโตโยต้า วีออส และฮอนด้าซิตี้เองก็ต้องขยายตลาดเพิ่ม เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองเช่นกัน

ในทางกลับกันมาสด้า เองก็มีแรงหนุน จากความร้อนแรงในการเปิดตัวมาสด้า 2 ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และด้วยแผนการตลาดที่จะรุกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การสร้างอิมเมจให้กับตัวผลิตภัณฑ์ ผ่านการโฆษณาหลากหลายรูปแบบภายใต้แนวคิดหลักคือ Zoom Zoom จนถึงการเพิ่มดีลเลอร์ขึ้นมารองรับปริมาณการขายอีกกว่า 20 แห่ง เป็นการแสดงให้เห็นถึง ความพร้อมของมาสด้า ในการแจ้งเกิดอย่างเต็มรูปแบบ เซ็กเมนท์รถยนต์นั่งซับคอมแพ็กต์ ในฐานะโปรดักซ์ลีดเดอร์

แหล่งข้อมูลโดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์
http://www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?newsID=9530000013016

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น