10 กุมภาพันธ์ 2553

โตโยต้าอ่วมเสียหาย3.6หมื่นล. ผู้ใช้รถแคนาดารวมตัวยื่นฟ้อง

โตโยต้าอ่วมเสียหาย3.6หมื่นล. ผู้ใช้รถแคนาดารวมตัวยื่นฟ้อง
วิกฤติโตโยต้าขยายวง ผู้ใช้รถในแคนาดา รวมตัวยื่นฟ้องกรณีคันเร่งบกพร่อง ยักษ์ใหญ่ยานยนต์ประกาศเรียกคืนระลอกใหม่ในตอ.กลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา
ผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถโตโยต้าในแคนาดา รวมตัวกันยื่นฟ้องบริษัทโตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น กรณีคันเร่งบกพร่องจนนำไปสู่การเรียกคืนรถจำนวนมาก ทนายความที่ทำหน้าที่ตัวแทนของโจทก์ กล่าวว่า คดีฟ้องในนามกลุ่มบุคคลนี้ มุ่งเรียกร้องค่าชดเชยจากความเสียหายและการบาดเจ็บ ผลจากการซื้อหรือใช้รถโตโยต้า

คำฟ้องดังกล่าว ซึ่งยื่นต่อศาลเมืองออนแทรีโอ กล่าวหาโตโยต้าและซีทีเอส คอร์ปอเรชั่น ซึ่งรายหลังเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นปัญหา ว่าทราบหรือควรจะทราบถึงความบกพร่องในการออกแบบระบบควบคุมลิ้นบังคับน้ำมันไฟฟ้า ซึ่งใช้ในรถโตโยต้ามาตั้งแต่ปี 2544 ความบกพร่องในการออกแบบ รวมถึงการขาดระบบป้องกันภัย ที่น่าจะช่วยให้คนขับสามารถควบคุมรถได้ ส่งผลให้เกิดการเร่งอย่างไม่ตั้งใจ และไม่สามารถควบคุมได้ในอเมริกาเหนือ บางกรณีมีรายงานว่าก่อให้เกิดการชนกัน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต ทั้งคนขับและผู้โดยสาร

ด้านบริษัทโตโยต้า กล่าวว่า จะเริ่มแก้ไขแป้นคันเร่งบกพร่องในสหรัฐและแคนาดาสัปดาห์นี้ พร้อมระบุว่า ในบางกรณีที่น้อยครั้งมากๆ ที่จะเกิดขึ้น กลไกแป้นคันเร่งอาจเสื่อมและยากที่จะกดลง หรือค้าง ซึ่งวิศวกรของโตโยต้าก็ได้พัฒนา "สเปเซอร์" ใส่เข้าไปในกลไกคันเร่ง เพื่อเพิ่มแรงยึดของสปริง และลดความเสี่ยงที่แป้นคันเร่งจะค้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายโจเอล โรชอน ทนายความ ระบุในแถลงการณ์ว่าการแก้ปัญหาของโตโยต้าดูเหมือนไม่ได้บรรเทาความวิตกเกี่ยวกับระบบควบคุมลิ้นบังคับน้ำมันไฟฟ้า ขณะที่นายสตีเวน แฮมิลตัน หนึ่งในโจทก์ที่ยื่นฟ้อง กล่าวว่า เพิ่งซื้อรถไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้ เขาไม่สามารถนำรถไปขายต่อได้ และอยากได้เงินคืนเต็มจำนวน

ทั้งนี้ การเรียกคืนหลายครั้ง กระทบต่อรถโตโยต้าเกือบ 8 ล้านคันทั่วโลก รวมถึง 270,000 คันในแคนาดา

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า รวมแล้วโตโยต้าถูกฟ้องในนามกลุ่มบุคคล อย่างน้อย 12 คดีทั้งในสหรัฐและแคนาดา เกี่ยวเนื่องกับการเรียกคืนรถ โดยเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ผู้บริโภคในรัฐเทกซัสได้ยื่นฟ้องในนามเจ้าของรถทุกคนของโตโยต้าและเลกซัสรุ่นที่ติดตั้งระบบควบคุมลิ้นบังคับน้ำมันไฟฟ้า

นายโรเบิร์ต ฮิลเลียด ทนายความที่ทำหน้าที่ตัวแทนเจ้าของรถในรัฐเทกซัส แถลงว่าโตโยต้าทราบเกี่ยวกับข้อบกพร่องของระบบควบคุมลิ้นบังคับน้ำมันไฟฟ้ามานานแล้ว แต่ลงมือเพียงเล็กน้อยและล่าช้ามากในการแก้ไขปัญหา นายอัลเบิร์ต พีนา ผู้บริโภคคนหนึ่งในรัฐเทกซัส เล่าว่าเมื่อวันที่ 14 ม.ค. จู่ๆ รถรุ่นอวาลอนของเขาก็เร่งขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึง เมื่อไปถึงป้ายให้หยุด จนเกิดการชนกัน แต่เขาเขาไม่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนภรรยาของเขาก็เคยเจอกรณีดังกล่าวเหมือนกัน แต่ไม่ถึงขั้นเกิดอุบัติเหตุ ก่อนหน้านี้ มีการรวมตัวกันยื่นฟ้องโตโยต้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา และลุยเซียนา

ยันไม่เกี่ยวปัญหาอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม นายจอห์น แฮนสัน โฆษกโตโยต้าในญี่ปุ่น กล่าวว่า หลังจากโตโยต้าและ องค์กรอื่นๆ ทดสอบอย่างครอบคลุมมาหลายปี ไม่พบหลักฐานว่าปัญหาทางอิเล็กทรอนิกส์จะนำไปสู่การที่คันเร่งจะเร่งขึ้นอย่างกะทันหัน

นายจิม เลนต์ ประธานโตโยต้า มอเตอร์ ยูเอสเอ แถลงว่าจะเริ่มการผลิตรถที่โรงงานในสหรัฐและแคนาดาอีกครั้งในวันที่ 8 ก.พ. หลังจากระงับการผลิตและขายรถ 8 รุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายเลนต์ กล่าวว่า ความสำคัญอันดับแรก คือ การแก้ไขรถที่ออกไปอยู่บนถนนแล้ว

นายเลนต์ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเจ้าของรถจะต้องรอนานเท่าไร จึงจะได้รับการนัดหมายให้นำรถไปซ่อม แต่กล่าวว่าการซ่อมน่าใช้เวลาเพียง 30 นาที พร้อมเสริมว่าโตโยต้าได้ออกแบบแป้นคันเร่งใหม่สำหรับรถรุ่นใหม่ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ น่าจะช่วยแก้ปัญหาการเร่งอย่างกะทันหันได้

นายเลนต์ กล่าวว่า เร็วเกินไปที่จะระบุว่า ยอดขายจะได้รับผลกระทบเท่าไร จากการเรียกคืนรถและการระงับการผลิต-จำหน่ายแต่คาดว่าผลกระทบระยะยาวจะมีจำกัด หากโตโยต้ารับมือสิ่งต่างๆ อย่างเหมาะสม

นายบ็อบ วอลต์ รองประธานฝ่ายคุณภาพสินค้าและสนับสนุนบริการ กล่าวว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ที่ผ่านการทดสอบความทนทาน แล้ว

ดอยช์แบงก์ประเมินต้นทุนเรียกคืน

เว็บไซต์เอดมันด์ดอทคอมคาดหมายว่า ยอดขายของโตโยต้าในสหรัฐจะลดลง 11.9% ในเดือน ม.ค. โดยส่วนแบ่งตลาดน่าจะลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2549 ที่ 14.7% ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า บรรดาคู่แข่งของโตโยต้า รวมถึงบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส และฟอร์ด พากันอาศัยช่วงนี้เปิดแคมเปญเพื่อดึงลูกค้า

ขณะที่ดอยช์แบงก์ประเมินว่าต้นทุนโดยตรงจากการเรียกคืนรถ จะอยู่ที่ 60,000 ล้านเยน หรือประมาณ 19,000 ล้านบาท แต่นายเคิร์ท แซนเกอร์ นักวิเคราะห์ของ ดอยช์แบงก์ ระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงการ ฟ้องร้องต่างๆ บวกกับการที่คาดว่าบริษัทรถเช่า จะขอเงินชดเชยที่ต้องระงับการใช้รถ บวกกับแรงจูงใจและค่าโฆษณา เพื่อดึงลูกค้ากลับมาแล้ว คงไม่เป็นการมากเกินไป หากจะประเมินว่าต้นทุนทางอ้อมจะขึ้นถึง 100,000ล้านเยนหรือประมาณ3.6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ โตโยต้าซึ่งแซงหน้าบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส ขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มียอดขายสูงสุดในโลกเมื่อปี 2551 เผชิญประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยหลายครั้ง จนผู้วิจารณ์ระบุว่า ก่อให้เกิดคำถามว่าบริษัทยอมเสียสละคุณภาพที่เป็นถึงระดับตำนาน เพื่อขึ้นเป็นรถเบอร์ 1 ของโลกหรือ

ล่าสุดนายชินอิจิ ซาซากิ รองประธานโตโยต้า แถลงข่าวที่กรุงโตเกียวว่าเขาคิดว่าการที่โตโยต้าขยายตัวในโลกอย่างรวดเร็วและเพิ่มการผลิตในต่างประเทศ ไม่ได้ส่งผลให้คุณภาพของรถโตโยต้าแย่ลง และไม่ได้เป็นสาเหตุให้มีการเรียกคืนรถหลายล้านคันทั่วโลก โตโยต้ามั่นใจอย่างเต็มที่ในด้านวิศวกรรมและคุณภาพของบริษัท

เรียกคืนรถใน ตอ.กลาง-แอฟริกา-ละติน

โฆษกโตโยต้า กล่าวว่า บริษัทจะขยาย การเรียกรถคืน สืบเนื่องจากปัญหาคันเร่ง ไปยังตะวันออกกลาง แอฟริกาและละตินอเมริกา โดยโตโยต้าจะเรียกคืนรถประมาณ 1.8 แสนคัน ที่นำเข้าจากสหรัฐ และขายในภูมิภาคดังกล่าว

Tags : โตโยต้า


โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์/http://www.bangkokbiznews.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น